อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์กับ TV24 สถานีประชาชน ในช่วงข่าวเที่ยง News Room 12.00 น. วันที่ 13 ก.พ. 2558 ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำคดีม็อบพันธมิตรฯ เมื่อปี2551 ไปฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเอาผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวกนั้น
ที่ปรึกษา นปช. กล่าวว่า มองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากมีความพยายามในการจัดการพรรคพลังประชาชน ถึง พรรคเพื่อไทย หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบอบทักษิณ เป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้สิ้นซาก เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ถ้าเทียบกับคดีอื่นๆ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการตายของคนร่วมร้อยศพ ในปี 2553 นั้นต่างกันอย่างลิบลับ นอกจากนี้ คดีของอดีตนายกฯสมชาย ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งก็มีมติไม่ถอดถอน รวมทั้ง อัยการก็ไม่สั่งฟ้อง ขณะที่ ป.ป.ช.ก็ใช้สิทธิ์ที่ว่า ตัวเองสามารถฟ้องเขาได้ หรือไม่ฟ้องก็ได้ อำนาจตัวนี้ เป็นอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบหรือใครดูแลเลย เป็นเงื่อนงำของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้องค์กรอิสระเหล่านี้เชื่อมโยงกันกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ตุลาการส่วนอื่นๆ ทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ มีอำนาจที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง แล้วก็สอดรับกัน
ฉะนั้น “มันตรงไปตรงมาว่ามันไม่ใช่สองมาตรฐาน มันยิ่งกว่า คือหมายความว่า มันไม่มีมาตรฐานเลย” ถ้าพูดตรงๆก็คือว่า มันไม่ได้มีหลักนิติธรรมใดๆ แต่ว่ามันเป็นการใช้ช่องว่างหรือบางส่วนในกฎหมายเพื่อกระทำกับฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมือง ดังที่ทาง นิวยอร์กไทม์ ตีแผ่ว่าเผด็จการทหารไทยปราบฝ่ายตรงข้ามด้วย 'กระสุนกระดาษ' ฆ่าให้ตายโดยไม่ใช้กระสุนตะกั่ว อันนี้แสดงว่าเป็นที่รู้กันทั่วไปแม้กระทั่งคนต่างประเทศ ไม่เฉพาะคนไทย
ที่ผ่านมาการทำงานของ ป.ป.ช. มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่?
การกระทำของ ป.ป.ช. แน่นอน เป็นเหตุสำคัญ ซึ่งขณะนี้ สิ่งที่ ป.ป.ช.ทำทั้งหมด เรียกว่าไม่สามารถนำไปสู่ความปรองดองได้เลย แล้วสิ่งที่ ป.ป.ช.ทำถ้าจะบอกว่ามันเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง หากจะพูดให้ชัดอีกทีต้องบอกว่า “มันเป็นความต่อเนื่อง ทำให้ความขัดแย้งสามารถถูกขยาย คือการเลือกข้างใดข้างหนึ่งในความขัดแย้ง แล้วใช้อำนาจที่มีในมือจัดการ” อันนี้ต้องพูดกันตรงๆ ก็ในเมื่อเวลาทำ คุณทำได้ ฉะนั้น เราก็มีสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ได้
สาเหตุอะไรที่ทำให้การทำงานของ ป.ป.ช.ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นสองมาตรฐานมาโดยตลอด?
เพราะว่ามีแนวคิดตั้งแต่ต้น ที่จะสร้าง ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ ให้จัดการกับฝ่ายการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ มีการวางบทบาทให้เป็นอย่างนี้ มีผู้วางบทบาทของ ป.ป.ช.ส่วนหนึ่ง และวางศาลรัฐธรรมนูญไว้อีกส่วนหนึ่ง เรียกว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว และนำไปสู่การพิฆาตฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง
เราพูดได้ไหมว่า จากกรณีอดีตนายกฯสมชาย เป็นการรุกไล่ หรือ ไล่ล่าทางการเมือง?
แน่นอน สามารถพูดได้ ถ้าในเมื่อ ป.ป.ช.กล้าทำ ต้องกล้ารับ และเราต้องเข้าใจว่ามีการวางบทบาท วางภาระหน้าที่ของแต่ละส่วน ส่วนของ ป.ป.ช.เรียกว่าเป็นผู้รับเรื่อง และให้ตัวเองเป็นผู้เสนอเรื่องเสียเอง ในการชงเรื่องที่จะเป็นจุดจบของฝั่งปฏิปักษ์ทางการเมือง คือในเมืองไทยต้องยอมรับว่าอย่างน้อยมี 2 ขั้วทางการเมืองใหญ่ๆ คือ ฝั่งอนุรักษ์นิยม กับฝั่งที่ต้องการบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ฝั่งอนุรักษ์นิยมเขาไม่มีสิ่งอื่นใด เพราะเขาไม่ชนะใจประชาชน จึงต้องมีมือพิฆาตเอาไว้ในองค์กรของรัฐ ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมยังสามารถที่จะทำงานได้ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ออกแบบมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ตอน 2540 ยังมีฝ่ายประชาชนเข้าไปจำนวนมาก แต่พอปี 2550 ออกแบบให้มันถักทอให้มันโยงใย จนอย่างน้อยส่งผลต่อฝ่ายการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
หาก ป.ป.ช.ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จะสวนทางกับการสร้างความปรองดองไหม?
ต้องถามว่าใครเขาอยากปรองดอง ในความเป็นจริงฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการความปรองดอง สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำมันสวนทางกัน เราจะดูว่าปรองดองหรือไม่ต้องดูจากการปฏิบัติ ในทัศนะของอาจารย์มองว่า “ถ้าฝั่งอนุรักษ์นิยมต้องการปรองดอง ต้องพัฒนาตัวเองให้ชนะใจประชาชน แต่ว่าการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ กองทัพ หรือ กระบวนการยุติธรรมกระทำต่อฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองตลอดเวลา แสดงถึงความคิดที่ไม่ต้องการปรองดองแม้แต่น้อย”