กรรมการปรองดอง
จี้ถามรัฐบาล-คสช.มีความจริงใจสร้างความปรองดองหรือไม่ ยืนยันต้องนิรโทษผู้ชุมนุมที่ไม่มีคดีร้ายแรงเพื่อเป็นรากฐานการแก้ความขัดแย้งลดอคติสร้างความปรองดอง
และให้อภัยโทษแก่ผู้ที่คดีถึงที่สุด ดักทางคสช.อย่าลงจากอำนาจโดยไม่รับผิดชอบทิ้งให้สังคมขัดแย้งยืดเยื้อวงจรอุบาทว์จะกลับมาอีก
นายอดุลย์
เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 และกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ว่า ขอตั้งคำถามต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่าต้องการสร้างความปรองดองระหว่างประชาชนในสังคมที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจริงหรือไม่
และถ้าใช่ ตามที่คนใน คสช. และรัฐบาลพูดในหลายวาระด้วยกัน ขอถามว่ามีแนวทางในการสร้างความปรองดองอย่างไรที่เป็นรูปธรรม
เพราะทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนและไม่เห็นผลในทางปฏิบัติจากการทำงานสร้างความปรองดองของรัฐบาล
ไม่ว่าจะในเรื่องของการคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาในอดีตหรือการสร้างบรรยากาศเพื่อให้เกิดความปรองดองในอนาคต
นายอดุลย์
กล่าวว่า การที่มีการพูดถึงการนิรโทษกรรมโดยฝ่ายต่างๆ ในขณะนี้นั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าคำว่านิรโทษกรรมนั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งและก็ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดการสร้างความปรองดอง การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสามารถทำได้
แต่ก็ต้องเกิดจากการเห็นพ้องของฝ่ายต่างๆ ว่าจะให้กับคดีใด เมื่อไหร่ ซึ่งควรกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน
โดยยกเว้นคดีที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต, คดีทุจริตประพฤติมิชอบ
และคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ แต่สังคมต้องตระหนักและไม่ลืมด้วยว่า เหตุที่ประชาชนเกิดความหวาดระแวงกับคำว่านิรโทษกรรมนั้น
เกิดจากความโลภที่มีการใช้เสียงข้างมากในสภาออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยในปลายปี
2556 จนเกิดการคัดค้านและเกิดวิกฤติทางการเมือง
“ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้ผู้ชุมนุม
แต่เพื่อเป็นการแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรัฐที่ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยจนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากของประชาชน
ทหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน ฯลฯ ทรัพย์สินเอกชนถูกบุกรุกทำลายได้ และเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี
อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง ลดอคติต่อกัน และสร้างความปรองดองของคนในชาติ สำหรับการขออภัยโทษนั้น
ทางผู้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ได้ยอมรับผิด ยอมรับโทษทัณฑ์ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ย่อมมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลตามกระบวนการยุติธรรมปกติได้อยู่แล้ว” นายอดุลย์ กล่าว
กรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง
กล่าวต่อว่า ขอสื่อไปยังคสช.ว่าหากเหตุที่ท่านเข้ามาทำการยึดอำนาจ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์นั้น
เป็นไปตามที่ท่านอ้างตวามจำเป็นต้องเข้ามาระงับเหตุการณ์ในภาวะวิกฤต จึง ก็ถือว่าเป็นความตั้งใจดีที่ต้องการยุติไม่ให้ความรุนแรงขยายตัว
มาเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะไกล่เกลี่ยหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ถึงทางตัน ด้วยการปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดอง
แต่ก่อนที่ท่านจะลุกออกไป ต้องอย่าลืมด้วยว่าท่านเข้ามาเพื่ออะไร และไม่ละทิ้งหน้าที่ที่จะส่งมอบบ้านเมืองกลับคืนสู่ระบบอบประชาธิปไตย
“จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องเอื้อให้กลไกต่างๆ ของแม่น้ำทั้ง
5 สายและองคาพยพทุกส่วนของรัฐดำเนินการไปให้ได้ตามโรดแม็พ เพื่อให้ภารกิจในการปฏิรูป
และสร้างความปรองดองระหว่างคนในชาติสำเร็จลุล่วงให้ได้ เปรียบเหมือนท่านปฏิบัติการรบ
ขณะนี้ท่านสามารถเข้ายึดพื้นที่มั่นบนเนินได้แล้ว ท่านต้องแผ้วถางทางลง เก็บกู้กับระเบิด
ส่งมอบพื้นที่คืนสู่ภาวะปกติ อย่าทิ้งความรับผิดชอบ โดยปล่อยให้ความขัดแย้งสั่งสมยืดเยื้ออกไป
ให้ตกเป็นภาระของประชาชนหลังจากที่ท่านถอนกำลังออกไป ไม่เช่นนั้น สังคมไทยก็จะติดกับดักเดิมๆ
วังวนของความขัดแย้งรุนแรงและการรัฐประหาร วงจรอุบาทว์ก็จะกลับมาอีก”นายอดุลย์ กล่าว
นายอดุลย์
กล่าวด้วยว่า ในฐานะญาติวีรชนพฤษภา '35 ผมขอวิงวอนทุกฝ่ายว่าให้ใช้สติและความอดทนอดกลั้นให้มาก
อย่ารุกล้ำทำให้เกิดเงื่อนไขความขัดแย้งรอบใหม่ ขอให้คำนึงถึงชาติบ้านเมืองที่บอบช้ำและเสียโอกาสในการพัฒนามามากแล้วจากความขัดแย้งทางการเมือง
ที่รุนแรงจนประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หากสังคมไทยไม่ตระหนักถึงผลจากปรากฏการณ์ดังกล่าว
เราจะก้าวเดินต่อไปในสถานการณ์ข้างหน้าได้อย่างยากลำบาก ในสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่กำลังสั่นคลอน
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น