ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ
ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17
– 19 เมษายน 2558 ณ
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมถกแถลงมากกว่า 60 คน
ทั้งจากกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงว่า
ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่จะ“สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่
การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข” และมีข้อเสนอว่า รัฐธรรมนูญควรสอดคล้องกับ “ความเป็นใหญ่ของประชาชน”
หรืออำนาจอธิปไตย “เป็นของ มาจาก
และเพื่อประชาชน” ดังนั้น
ควรให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติ
ควรให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และให้คณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดนโยบายและบริหารราชการรวมทั้งดำเนินการปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมได้
โดยไม่ถูกควบคุมโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นจนเกินความสมดุล
และควรลดอำนาจของราชการเช่นในการจัดการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือ
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรยึดติดว่าความคิดของตนในตอนนี้ จะดีที่สุดตลอดไป
จนบัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคตกระทำได้ยากมาก
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันจัดประชุมถกแถลงรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17-19 เมษายน 2558 ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน
ทั้งจากกรุงเโดยหวังให้เป็นเวทีการถกแถลงแจงเหตุผลเกี่ยวกัยร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
อนึ่ง
ที่ประชุมได้ถกแถลงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้
- รัฐธรรมนูญควรบัญญัติเฉพาะหลักการสำคัญ
ส่วนรายละเอียดที่อาจเปลี่ยนตามกาลสมัยควรบัญญัติเป็นกฏหมายธรรมดา
- ไม่ควรบัญญัติให้มีองค์กร/สมัชชา/คณะกรรมการ
เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไข้วเขวหรือการแทรกแซงต่อหลักการที่ว่า
อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยซึ่งแบ่งเป็นสามอำนาจนั้น
พระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
- คำว่า “พลเมือง” ซึ่งดูเหมือนจะตรงกับคำว่า citizen และหมายความว่าผู้มีสัญชาติไทยนั้น น่าจะตรงกับคำที่เคยใช้อยู่เดิมคือ “ปวงชนชาวไทย” แต่มีนัยแคบลงหากยึดโยงกับนิยามความเป็นพลเมือง
(ที่ดี) ตามมาตรา 26 และหน้าที่พลเมืองตามมาตรา 27 คำว่าพลเมืองยังมีความหมายที่แคบกว่าคำว่า “บุคคล”
ที่น่าจะหมายถึงทุก ๆ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
และยิ่งแคบกว่าคำว่า “มนุษยชน” ที่หมายถึงมนุษย์ทุกคน
- ไม่ควรทำให้ประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องกว้าง
กลายมามีผลบังคับใช้เหมือนกฎหมายที่ต้องเขียนอย่างรัดกุม อนึ่ง
ประมวลจริยธรรมควรคำนึงถึงสถานภาพที่ต่างกันไปของบุคคล
- ขอเสนอให้ตัดบทบัญญัติว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติซึ่งมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางเกินไปและจะดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติได้ยาก
แต่ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าน่าจะศึกษาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติก่อนจึงจะมาพิจารณาในประเด็นนี้
- การเลือกตั้ง ส.ส.
ในระบบบัญชีรายชื่อควรใช้รายชื่อปิดเพราะเป็นการเรียบง่าย
แต่ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าควรใช้บัญชีรายชื่อเปิดเพื่อลดอิทธิพลนายทุนพรรค นอกจากนี้เห็นว่าควรมีเฉพาะบัญชีรายชื่อพรรค
ไม่ควรมีบัญชีรายชื่อกลุ่มการเมือง เพราะควรส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
ควรให้มีผู้สมัครอิสระโดยไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมือง
- ไม่ควรห้าม “ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช”
มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับทุกคน
แต่ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
- ในส่วนของลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 111 ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรมีผลย้อนหลังโดยเฉพาะในวงเล็บ (8) ที่ตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต
แต่บางส่วนเห็นว่าควรตัดสิทธิ์หากในอดีตเคยกระทำการทุจริต (วงเล็บ 6, 7 และ 9)
- ส.ว. ควรมี จำนวน 200 คน
มาจากการเลือกตั้งเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540
แต่บางส่วนเห็นว่าควรมี ส.ว. จำนวน 150 คน โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และ 73 คน มาจากการสรรหา
-------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น