วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมหาทางออกภาคเกษตร “ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง” เสนอภาครัฐควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการน้ำ


สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเวที ระดมผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หารือร่วมเดินหน้าหาทางออกในงานเสวนา ทางออก.....วิกฤตภัยแล้ง ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม Convention Hall ๒ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อเร่งหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งเรื่องบริหารจัดการน้ำ มาตรการแก้ไขปัญหาการทำเกษตร และแนวทางรับมือภัยพิบัติภายใต้อิทธิพลของเอลนีโญ่ ในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดเสวนา ทางออก.....วิกฤตภัยแล้ง๒๕๕๘ ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมอุทกวิทยาไทย สมาคมนักเรียนเก่าสถาบัน AIT (ประเทศไทย) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเสวนาทางออก.....วิกฤตภัยแล้งขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการผลิต ด้านนโยบาย ด้านการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการนำเสนอต่อรัฐบาล และร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบกับภาวะภัยแล้งของการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2558/59 ซึ่งทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ได้เกิดวิกฤตภัยแล้ง จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อยในเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2558 เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร และน้ำอุปโภค บริโภค ในหลายพื้นที่
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี ๒๕๕๘ ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง และอาจจะหนักกว่าปี ๒๕๔๐ ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาในการทำการเกษตร ดังนั้นภาครัฐควรต้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน รวมทั้งออกมาตรการประหยัดการใช้น้ำของคนเมืองให้เป็นรูปธรรม โดยให้คนเมือง (กรุงเทพฯ) ลดการใช้น้ำเหลือครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ในส่วนภาคการเกษตรก็ต้องปรับตัวในการปรับเปลี่ยนพืชที่จะทำการเพาะปลูกเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุสั้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกไปเป็นเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งการจัดเสวนาครั้งนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น  คือ ดร.ทองเปลว กองจันทร์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน  กับเรื่องของข้อจำกัดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในมิติต่างๆ รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะมาให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติจากภัยแล้ง ภายใต้อิทธิพลของ เอลนีโญ่ ในระยะยาว และนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาชาวนาและเกษตรกรไทย เกี่ยวกับเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรและขอให้ภาครัฐหามาตรการให้ความช่วยเหลือในปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ มีผู้แทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ที่จะมาร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับรู้ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ความต้องการความจำเป็นขั้นพื้นฐานจากภาครัฐของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรับรู้ภัย การเสวนานี้ได้ข้อสรุปถึงมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว ดังนี้
มาตรการเร่งด่วน
         ๑.         ภาครัฐควรออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
๑.๑ เกษตรกรที่ทำนาตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือตามความเป็นจริงที่เกษตรกรปลูก
 ๑.๒ เกษตรกรที่มิได้ทำนา
         ๒.         ภาครัฐควรจัดหาปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรเพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป เช่นเมล็ดพันธ์ ปุ๋ย
         ๓.         ภาครัฐควรที่จะเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ทำนาของเกษตรกร โดยมอบค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการเอง
         ๔.         ภาครับควรมีมาตรการแบ่งปันน้ำระหว่างคนเมืองกับชาวนา โดยอนุญาตให้ชาวนาสูบน้ำได้สัปดาห์ละ ๒ ครั้งต่อวัน และรณรงค์ให้คนเมืองประหยัดการใช้น้ำ
         ๕.         ธกส .ควรเพิ่มวงเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ในกรณีที่เกษตรกรกู้เงินจากธนาคารเต็มวงเงินและควรชะลอการพักหนี้
         ๖.         ภาครัฐควรที่จะงดการเก็บกองทุนหมู่บ้านในรอบการจ่ายเงินกองทุนปี ๕๙
         ๗.         ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมค่าเช่านาจากเจ้าของนาให้เป็นธรรม ในกรณีที่มิได้ทำนา
มาตรการระยะยาว
๑.         ภาครัฐควรที่จะจัดทำแก้มลิงทุกจังหวัด
๒.         ภาครัฐควรดำเนินการลอกหนองคลอง บึง ธรรมชาติเพื่อเก็บกักน้ำ
๓.         การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนให้ชาวนา
๔.         ภาครัฐควรที่จะสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกรขุดสระน้ำในไร่นา
๕.         ภาครัฐควรที่จะผันน้ำจากแม่น้ำสาระวินเข้าเขื่อนภูมิพล
๖.         ภาครัฐควรที่จะดำเนินการโครงการ โขง-ชี-มูล ให้เป็นรูปธรรม
๗.         ภาครัฐควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการน้ำ
ซึ่งมาตรการดังกล่าวทางสภาเกษตรกรจะนำเสนอต่อภาครัฐในการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น :