วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เผยหลักฐานมัด "ธ.กรุงเทพ-ชัยณรงค์-อุตตม" เอี่ยวคดีปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย อาจเข้าข่ายฐานฟอกเงิน หรือไม่?


        







              (14 ต.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ ได้เดินทางไปยืนหนังสือ ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการขอให้ขยายผลสอบเพิ่มเติม ตามความผิดกฎหมายฟอกเงิน คดีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้

              โดยนายวันชัย ได้กล่าวโทษ ธนาคารกรุงเทพและผู้บริหาร ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ ของกลุ่มบริษัทกฤษฎามหานคร มีความเกี่ยวข้องในเส้นทางการปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

             ทนายความอิสระ ยังกล่าวโทษนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และนายอุตตม สาวนายน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ที่เป็นกรรมการลงชื่อร่วม ในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ไม่ได้ถูกฟ้องคดีอาญาที่ตัดสินไปแล้ว ทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายยกเว้น
            
           ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ ดีเอสไอ สอบสวนขยายผลในคดีฟอกเงินว่า มีผู้ใดควรเป็นผู้ต้องหา ที่นอกเหนือจากที่ คตส.และ ปปช.สรุปไว้ดั้งเดิม โดยมี พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ เป็นผู้รับเรื่อง  
  
โดยเนื้อหาของหนังสือที่นายวันชัยยื่นต่อ DSI และกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า

               จากประสบการณ์ในอดีต ข้าพเจ้าเคยเป็นทนายความอิสระประจำสำนักงานที่รับดำเนินคดีให้แก่สถาบันการเงินหลายแห่ง และช่วงปี 2535 ถึงปี 2540 ทำหน้าที่ทนายความประจำอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จี เอฟ จำกัด (มหาชน) มีโอกาสทำหน้าที่ทำคดีและศึกษาข้อมูลจากแฟ้มสินเชื่อ ,
ศึกษาและรวบรวมข้อมูลการประเมินและการอนุมัติสินเชื่อในโครงการใหญ่ๆที่ส่งมาให้ดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และปิด 56 ไฟแน้นซ์แล้วจนถึง ปี 2545 ยังมีโอกาสร่วมทำความเห็นและวิเคราะห์กรณีที่มีปัญหาต่างๆของการปล่อยสินเชื่อแต่ละรายในโครงการใหญ่ๆเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ที่ ปรส.ส่งเข้ามาทำหน้าที่ใน 56 ไฟแน้นซ์ที่ถูกปิดจนถึงวันที่ส่งต่อให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์
ข้าพเจ้าจึงใส่ใจและสนใจในการติดตามกรณีที่เกิดวิกฤตการเงินของชาติและยังความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ  ครั้งหนึ่งในอดีตที่ผ่านมาข้าพเจ้าเป็นผู้นำเสนอประเด็น นำเสนอเอกสารและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดี ปรส.เรื่องการขายทรัพย์สิน 56 ไฟแน้นซ์ที่ถูกปิดกิจการ   ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในคดี ปรส.ทั้งหมด 


               ในครั้งนี้ จากการที่ข้าพเจ้าติดตามคดีกรณีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหลายบริษัท  ด้วยความสนใจ 
จนกระทั่งเมื่อวันที่  26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาที่อ้างถึงข้างต้น กรณีจึงชัดแจ้งว่าศาลฎีกาพิพากษา
ว่าการอนุมัติและปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีบริษัทหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินหลายบริษัทหลายกลุ่มและมีเอกสารเส้นทางการเงินที่ชัดเจนชัดแจ้งเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่สถาบันการเงินระดับใหญ่ 2 แห่ง ต่อเนื่องกัน คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และเส้นทางการเงินผ่านไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในช่วงของการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)   ให้แก่กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม (ภาษาทางการเงิน คือ รีไฟแน้นซ์)  ตรงนี้จะต้องมีเอกสารหลักฐาน และมูลหนี้ค้างชำระทั้งหมดจากเจ้าหนี้เดิมที่แน่นอนชัดเจนทั้งหมด  เพื่อเป็นข้อมูลให้มาทำการขอสินเชื่อแล้วนำกลับไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จากนั้นจึงกระจายไปยังแหล่งอื่นๆในลำดับต่อไปซึ่งก็ต้องมีเอกสารหลักฐานเส้นทางการเดินทางการเงินทั้งสิ้น จึงจะชอบด้วยกฎหมาย
       
                โดยเฉพาะข้อเท็จจริงในทางพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวข้างต้นรับฟังเป็นยุติว่า  “ หลังเกิดเหตุวิกฤติเศรษฐกิฐในปี 2540 บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)  จำเลยที่ 20  มีหนี้ค้างชำระอยู่แก่สถาบันการเงินจำนวนมากและไม่สามารถชำระหนี้ได้ มีผลขาดทุนการดำเนินงานมาโดยตลอด  มีผลขาดทุนสะสมจำนวนมาก หลักทรัพย์จดทะเบียนของจำเลยที่ 20 ถูกจัดอยู่ในหมวดฟื้นฟูการดำเนินงาน
จะต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  มิฉะนั้นหลักทรัพย์จดทะเบียนของจำเลยที่ 20  จะถูกเพิกถอนออกจากการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ”


                จากข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของกลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือทั้งหมดที่เป็นจำเลยในคดีตามคำพิพากษาที่อ้างถึง  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงมีส่วนร่วมกับจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ที่ก่อให้เกิดการเอาข้อมูลหนี้เดิมทั้งหมดที่มีอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปดำเนินการขอสินเชื่อ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อทั้งหมดที่เข้าลักษณะแบ่งหน้าที่กันทั้งตัวการ และผู้สนับสนุนทำความผิดจนสำเร็จได้เงินไปจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย  และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าจำเลยในคดีที่อ้างถึงช้างต้นนี้ได้กระทำความผิด และเป็นความผิดตามมูลฐานความผิดฐานฟอกเงินด้วย  


                และจากคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นนั้นชัดแจ้งว่ามีการกล่าวถึงธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไว้ชัดเจนว่ามีการผ่านเงินทางเส้นทางและผ่านบัญชีที่อยู่ในความดูและรับผิดชอบของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ชัดแจ้งว่าในขั้นตอนของการให้ข้อมูลลูกหนี้ว่า บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือมีหนี้ค้างชำระประมาณ 9,900 ล้านบาท เพื่อให้ใช้ประกอบในการขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นั้นเองเป็นผู้ให้
ข้อมูล    แต่เมื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด และ
บริษัทในเครือที่เป็นจำเลยในคดีอาญานี้   กลับปรากฏว่า มีหลักฐานเบื้องต้นว่ามีการนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพียงจำนวน  4,445,130,000 บาท ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่   ทั้งๆที่ในขั้นตอนก่อนการพิจารณาการขอสินเชื่อในส่วนของคณะกรรมการบริหารผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นั้นจะต้องได้รับข้อมูลจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหาร เนื่องจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ที่มีบุคคลซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารดำเนินการต่างๆแทนเพื่อให้กลุ่มบริษัท กฤษดามหานครจำกัด (มหาชนและบริษัทในเครือ) ได้รับความน่าเชื่อถือเพื่อให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่อ้างว่าเพื่อการนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในจำนวนเงินที่เหมาะสมกับการขอสินเชื่อ ที่เรียกว่าการรีไฟแน้นซ์  จนส่งผลในที่สุดว่าเป็นการอนุมัติสินเชื่อที่ศาลฎีกาตัดสินแล้วว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น  ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อให้แก่บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19)  เพื่อให้ไปชำระหนี้ (รีไฟแน้นซ์)ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 8,000 ล้านบาท
                                                                                                                          
                                                             

                จากข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในคดีอาญาชัดแจ้งแล้วว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กระทำการร่วมและ/หรือสนับสนุน เพื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19)  ได้ใช้ข้อมูล เอกสารขากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็นข้อสนับสนุนให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เชื่อว่ามีมูลหนี้ค้างชำระกันจริงๆจำนวน 8,000 ล้านบาท  จนในที่สุดธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ก็อนุมัติสินเชื่อดังกล่าวให้ และศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                   และข้อเท็จจริงยังชัดแจ้งว่าในช่วงเวลาของการขอสินเชื่อมาแล้วนำเงินมาชำระหนี้นั้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ได้ทำการลดยอดหนี้ให้เหลือเพียง 4,445,130,000 บาท ซึ่งเป็นการลดยอดหนี้ให้สูงถึงจำนวนประมาณ 3,554,870,000 บาท  ซึ่งเป็นกรณีผิดวิสัยของการบริหารการเงิน หรือการลดยอดหนี้ โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวอ้างทำนองว่าการลดหนี้ดังกล่าวเหมาะสมแล้วเพราะหลักประกันไม่คุ้มหนี้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีการประเมินหลักทรัพย์หลักประกันโดยหน่วยงานอื่นหรือบริษัทอื่นๆที่มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินหลักประกันหนี้ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย การลดยอดหนี้ดังกล่าวจึงผิดระเบียบและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย  เงินส่วนต่างที่อ้างว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ได้ทำการลดหนี้ให้แก่บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19)  นั้นเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายอันเป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน   แล้วเงินส่วนที่อ้างว่าลดหนี้นี้ผ่านระบบเสนทางทางการเงินของสถาบันการเงินกระจายสู่ส่วนต่างๆล้วนแต่ได้รับการร่วมมือจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทั้งสิ้น   และยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีอาญาข้างต้นว่า กระแสเงินกู้ทั้งหมดทีบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19) ได้รับเงินกู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดนั้นรับไปเป็นแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายมีการนำฝากเข้าบัญชีของ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาศรีย่าน


                 การที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กระทำการมาดังกล่าวข้างต้น และ จัดให้มีการนำเอาหรือรับเอาเงินจากธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย  เข้าบัญชีของ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด จำเลยที่ 19 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  สาขาศรีย่าน ที่ไม่เป็นไปตาม
วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 19  และไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และก็ปรากฏว่าต่อจากนั้นก็มีการทำนิติกรรมธุรกรรมเบิกถอนทางการเงินจากที่ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวออกจากบัญชีของกลุ่มจำเลยดังกล่าวในระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 20 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 20 หลายขั้นตอน และมีการนำเงินที่กลุ่มจำเลยที่ 19 กับพวกได้ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยได้ไปโดยการกระทำความผิดกฎหมายหลายบทที่เป็นความผิดตามมูลฐานความผิดกฎหมายฟอกเงิน แล้วนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพียงจำนวน  4,445,130,000 บาท ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่


                 นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วตามคำพิพากษาตามที่อ้างถึงข้างต้น ในช่วงเวลาการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งหมดที่ศาลพิพากษาว่าเป็นกระทำความผิดนั้น  ได้มีมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารผู้เสียหาย มีมติแต่งตั้ง จำเลยที่ 2 (ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์) และ จำเลยที่ 3 (นายวิโรจน์ นวลแข) และ จำเลยที่ ๔ (นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา) และ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน  เป็นคณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากวงเงินสินเชื่อสูงกว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไป คณะกรรมการบริหารทั้ง 5 คนจะต้องลงชื่ออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน
ได้แสดงเหตุผลหรือไม่เห็นด้วยกับการปล่อยสินเชื่อหรืออนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด 


                 ที่สำคัญถ้ากรรมการใน 5 คนนี้มีคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยไม่อนุมัติสินเชื่อรายนี้จะไม่ได้รับอนุมัติ เมื่อทั้ง 5 คนลงชื่ออนุมัติสินเชื่อแล้วไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษให้กรรมการคนใด  ถ้าเป็นความผิด
กลับปรากฏว่าในชั้นดำเนินคดีอาญาตามที่ศาลพิพากษาตามคำพิพากษาที่อ้างถึงนั้น
นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน มิได้ถูกดำเนินคดีอาญาดังกล่าวด้วย  ทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายใดยกเว้นการกระทำความผิดให้แก่บุคคลใดๆทั้งสิ้นที่มีส่วนพิจาณาและได้ลงชื่ออนุมัติสินเชื่อที่ผิดกฎหมายด้วย  เมื่อในชั้นนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 มีความผิดและเป็นความผิดอันเป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วย


                 ข้อเท็จจริงจึงยุติว่าทั้ง  นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน ล้วนเป็นคณะกรรมการบริหารที่ทำหน้าที่พิจารณาและลงชื่ออนุมัติสินเชื่อที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าเป็นการกระทำความผิดและกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนในข้อหาความผิดฐานฟอกเงิน  และไม่มีกฎหมายใดยกเว้นความผิดให้แก่ทั้ง  นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน ผู้ร่วมพิจารณาและลงชื่อในการอนุมัติสินเชื่อที่ผิดกฎหมายด้วย


                 การกระทำดังกล่าวของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน ) และผู้บริหารธนาคารฯ เป็นความผิดในฐานะผู้สนับสนุนในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 พฤติกรรมการฟอกเงิน ด้วยการปกปิดหรืออำพรางและโอนเงินให้บุคคล และเป็นการเปลี่ยนสภาพเพื่อซุกซ่อน เป็นการปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน  หรือกระทำการด้วยประการใดๆเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา  การจำหน่าย  การโอน  การได้สิทธิ์ใดๆ ซึ่งทรัพย์สินของ
                                                                                                                          
                                                                 

                กลุ่มจำเลยทั้งหมด  ความผิดซึ่งเป็นมูลฐานความผิดฐานฟอกเงินได้ถูกพิจารณาและรับฟังเป็นยุติแล้วในการพิจารณาคดีและศาลพิพากษาลงโทษในคดีอาญาตามคำพิพากษาที่อ้างถึงข้างต้นนี้ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502,พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 353 เช่นเดียวกับบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19) กับพวก ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2558 


                 สำหรับการกระทำของ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน  ในฐานะเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ข้อเท็จจริงก็ปรากฏชัดตามทางการพิจารณาคดีว่าเป็นคณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ชุดเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 ในคดีตามคำพิพากษาที่อ้างถึง และเป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุมัติสินเชื่อด้วย ถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502,พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 353 เช่นเดียวกับ จำเลยที่ 2-4 ที่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นมูลฐานความผิดฐานฟอกเงินตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  จึงถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงินด้วย    

                    ส่วนการดำเนินคดีอาญาความผิดฐานฟอกเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาที่อ้างถึง  บัดนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม  ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถใช้เอกสารหลักฐานและข้อเท็จจริงเดียวกันได้ทันที                

                   ในฐานะประชาชนคนไทย ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายที่รักความเป็นธรรมและต้องการเห็นหน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนกล่าวโทษว่า นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์  และ นายอุตตม  สาวนายน อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยผู้บริหารได้ร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงินกับจำเลยที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษตามคำพิพากษาที่อ้างถึงข้างต้น


                     ผ่านท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้โปรดสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษที่รับคดีฟอกเงินอันเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งหมดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างถึงข้างต้นกระทำความผิดอยู่แล้วได้โปรดขยายผลการสอบสวนถึงไปนายชัยณรงค์  อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม   สาวนายน อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหาร ที่ร่วมธุรกรรมทางการเงินทำให้เส้นทางทางการเงินจากการกระทำผิดทั้งหมดนำเงินไปจากธนาคาร
กรุงไทย จำกัด(มหาชน) ผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปยังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอันถือได้ว่าเป็นการร่วมกัน และ/หรือ สนับสนุน ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงินที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษและอยู่ระหว่างการสอบสวน  

ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น :