วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลทวงคืนป่า สภาเกษตรกรฯให้ป่าคืน

 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและมีความกังวลต่อแนวทางการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรรายย่อยที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน  และเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยได้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนมีประกาศเขตป่าอนุรักษ์
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าในปี ๒๕๕๘ คณะกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม เสนอให้เกษตรกรไทยร่วมกันปลูกต้นไม้ทดแทน เพื่อสร้างความร่มรื่นคืนสภาพธรรมชาติให้กับประเทศไทย ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม เสนอให้เกษตรกรไทยทั้งประเทศร่วมกันปลูกต้นไม้ จำนวน ๙,๙๙๙,๙๙๙ ต้นบนแผ่นดินไทย  เพื่อสร้างความร่มรื่นคืนสภาพธรรมชาติให้กับประเทศ โดยให้สภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศประสานงานกับกรมป่าไม้ในเรื่องพันธุ์ไม้ แล้วประสานงานกับส่วนราชการในจังหวัด องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร ประชาชน  ปลูกต้นไม้บนพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะ 
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากความเห็นพ้องต้องกันของคนไทย ที่เห็นว่าป่าไม้ถูกตัดทำลายจนเหลือพื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา สร้างป่าขึ้นมาใหม่ โดยจากการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐบาลคือนโยบายในการทวงคืนผืนป่า 6 แสนไร่ในปี 2558 โดยมุ่งไปที่พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกนำไปปลูกยางพารา ซึ่งแน่นอนว่าเกษตรกรถูกมองเป็นจำเลยของสังคมในประเด็นนี้   จากเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ยากจน ยากไร้ จำเป็นต้องมีที่ดินใช้ประกอบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ เมื่อรัฐบาลตัดโค่นต้นยางในพื้นที่ขนาดใหญ่ ย่อมส่งผลให้กระทบต่อสภาพธรรมชาติ การร่วมกันปลูกต้นไม้ ๙,๙๙๙,๙๙๙ ต้นของเกษตรกรจึงเป็นการร่วมมือกับรัฐบาลในการให้ป่าคืน คืนธรรมชาติให้ชุมชน
สำหรับการช่วยเหลือกับเกษตรกรที่ยากจน ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ประสานแจ้งกรณีจังหวัดที่ยังไม่มีการดำเนินการตัดโค่นยางพาราตามแผนการทวงคืนผืนป่า ขอให้ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อชี้แจงความเดือดร้อนของเกษตรกรรายย่อยที่จะได้รับผลกระทบ และให้จัดทำสำเนาคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มอบให้เกษตรกรรายย่อยใช้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีจังหวัดที่มีการดำเนินการทวงคืนผืนป่าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปตัดโค่นยางพาราของเกษตรกรแล้ว ขอให้ดำเนินการประสานงานให้คณะผู้ปฏิบัติงานสภาเกษตรกรระดับตำบล/อำเภอ สำรวจค้นหาเกษตรกรที่ถูกดำเนินการและพร้อมที่จะให้ข้อมูลความเดือดร้อนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล  อย่างน้อย 1 กรณีตัวอย่าง เมื่อได้รับข้อมูลว่ามีเกษตรกรที่ถูกตัดโค่นยางพาราและพร้อมให้ข้อมูลแล้ว ให้มอบให้สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด เข้าไปสัมภาษณ์ข้อมูลจากเกษตรกรคนดังกล่าว    บันทึกข้อมูลการสัมภาษณ์ และถ่ายภาพที่เกี่ยวข้อง จัดทำเป็นเอกสารรายงานต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ  เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมหาทางออกภาคเกษตร “ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง” เสนอภาครัฐควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการน้ำ


สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเวที ระดมผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หารือร่วมเดินหน้าหาทางออกในงานเสวนา ทางออก.....วิกฤตภัยแล้ง ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม Convention Hall ๒ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อเร่งหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งเรื่องบริหารจัดการน้ำ มาตรการแก้ไขปัญหาการทำเกษตร และแนวทางรับมือภัยพิบัติภายใต้อิทธิพลของเอลนีโญ่ ในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดเสวนา ทางออก.....วิกฤตภัยแล้ง๒๕๕๘ ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมอุทกวิทยาไทย สมาคมนักเรียนเก่าสถาบัน AIT (ประเทศไทย) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเสวนาทางออก.....วิกฤตภัยแล้งขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการผลิต ด้านนโยบาย ด้านการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการนำเสนอต่อรัฐบาล และร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบกับภาวะภัยแล้งของการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2558/59 ซึ่งทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ได้เกิดวิกฤตภัยแล้ง จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อยในเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2558 เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร และน้ำอุปโภค บริโภค ในหลายพื้นที่
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี ๒๕๕๘ ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง และอาจจะหนักกว่าปี ๒๕๔๐ ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาในการทำการเกษตร ดังนั้นภาครัฐควรต้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน รวมทั้งออกมาตรการประหยัดการใช้น้ำของคนเมืองให้เป็นรูปธรรม โดยให้คนเมือง (กรุงเทพฯ) ลดการใช้น้ำเหลือครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ในส่วนภาคการเกษตรก็ต้องปรับตัวในการปรับเปลี่ยนพืชที่จะทำการเพาะปลูกเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุสั้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกไปเป็นเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งการจัดเสวนาครั้งนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น  คือ ดร.ทองเปลว กองจันทร์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน  กับเรื่องของข้อจำกัดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในมิติต่างๆ รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะมาให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติจากภัยแล้ง ภายใต้อิทธิพลของ เอลนีโญ่ ในระยะยาว และนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาชาวนาและเกษตรกรไทย เกี่ยวกับเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรและขอให้ภาครัฐหามาตรการให้ความช่วยเหลือในปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ มีผู้แทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ที่จะมาร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับรู้ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ความต้องการความจำเป็นขั้นพื้นฐานจากภาครัฐของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรับรู้ภัย การเสวนานี้ได้ข้อสรุปถึงมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว ดังนี้
มาตรการเร่งด่วน
         ๑.         ภาครัฐควรออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
๑.๑ เกษตรกรที่ทำนาตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือตามความเป็นจริงที่เกษตรกรปลูก
 ๑.๒ เกษตรกรที่มิได้ทำนา
         ๒.         ภาครัฐควรจัดหาปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรเพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป เช่นเมล็ดพันธ์ ปุ๋ย
         ๓.         ภาครัฐควรที่จะเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ทำนาของเกษตรกร โดยมอบค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการเอง
         ๔.         ภาครับควรมีมาตรการแบ่งปันน้ำระหว่างคนเมืองกับชาวนา โดยอนุญาตให้ชาวนาสูบน้ำได้สัปดาห์ละ ๒ ครั้งต่อวัน และรณรงค์ให้คนเมืองประหยัดการใช้น้ำ
         ๕.         ธกส .ควรเพิ่มวงเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ในกรณีที่เกษตรกรกู้เงินจากธนาคารเต็มวงเงินและควรชะลอการพักหนี้
         ๖.         ภาครัฐควรที่จะงดการเก็บกองทุนหมู่บ้านในรอบการจ่ายเงินกองทุนปี ๕๙
         ๗.         ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมค่าเช่านาจากเจ้าของนาให้เป็นธรรม ในกรณีที่มิได้ทำนา
มาตรการระยะยาว
๑.         ภาครัฐควรที่จะจัดทำแก้มลิงทุกจังหวัด
๒.         ภาครัฐควรดำเนินการลอกหนองคลอง บึง ธรรมชาติเพื่อเก็บกักน้ำ
๓.         การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนให้ชาวนา
๔.         ภาครัฐควรที่จะสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกรขุดสระน้ำในไร่นา
๕.         ภาครัฐควรที่จะผันน้ำจากแม่น้ำสาระวินเข้าเขื่อนภูมิพล
๖.         ภาครัฐควรที่จะดำเนินการโครงการ โขง-ชี-มูล ให้เป็นรูปธรรม
๗.         ภาครัฐควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการน้ำ
ซึ่งมาตรการดังกล่าวทางสภาเกษตรกรจะนำเสนอต่อภาครัฐในการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกร

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชาวอุบลดีใจ พบอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ร่วมงานบุญก่อนเข้าพรรษาของคนอีสาน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี ต่างพากันโห่ร้องด้วยความยินดีที่ได้พบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปร่วมโครงการถนนสายบุญ ที่แรกคือ วัดปากน้ำบุงสระพัง(หลวงพ่อเงิน) โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย และนายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และชาวบ้านตำบลกุดลาด ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมบุตรชาย ได้เข้าสักการะหลวงพ่อเงิน และร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ และต้นพะยูงภายในบริเวณวัดปากน้ำ จากนั้นได้เข้าไปกราบไหว้และทำบุญที่วัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่ ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ก่อนจะเดินทางไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยว “สามพันโบก” ที่อำเภอโพธิ์ไทร


โครงการถนนสายบุญ ถือเป็นงานบุญก่อนช่วง เทศกาลเข้าพรรษาของชาวอุบลราชธานีและชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค. 58) นางสาวยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปที่ จ. ศรีสะเกษ