วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

"นที" แจงเหตุ กสท.สั่งปิดพีซทีวี ระบุ ยุยง ปลุกปั่น ผิดซ้ำซาก


พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ หรือ กสท. โพสต์ทวิตเตอร์ถึงกรณีที่มีข่าว กสท. มีมติ ยึดใบอนุญาตประกอบกิจการฯของช่อง Peace TV โดยระบุว่า วันนี้ กสท. ได้พิจารณาข้อร้องเรียนช่องรายการพีซ ทีวี ซึ่งเป็นการพิจารณาตามบันทึกข้อตกลงที่ทาง บ. พีซ เทเลวิชั่น จำกัด กับทาง กสทช. หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 22 พ.ค.57 ได้มีช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนหนึ่งถูกยุติการออกอากาศตามคำสั่ง คสช. เหตุของการถูกสั่งยุติการออกอากาศเนื่องมาจากช่องรายการเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศมาโดยต่อเนื่อง ต่อมาช่องรายการเหล่านี้ได้รับการอนุญาตให้ออกอากาศอีกครั้งโดยจะต้องมีการยอมรับข้อตกลงกับทาง กสทช. ในการระมัดระวังการออกอากาศ โดยช่องรายการตกลงที่จะไม่ออกอากาศเนื้อหาที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างให้เกิดความแตกแยก กรณีของช่องรายการพีซ ทีวี ก็เป็นช่องรายการหนึ่งที่ได้ทำข้อตกลงดังกล่าว และได้มีข้อร้องเรียนการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อตกลงมาตามลำดับ ได้มีการตักเตือน ทำความเข้าใจ ในระดับของอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ ของ กสทช. หลายครั้ง/หลายวาระด้วยกัน ตั้งแต่ ต.ค.57 แต่ พีซ ทีวี ก็ยังคงนำเสนอเนื้อหาในลักษณะเช่นเดิมจนอนุกรรมการฯ ได้เสนอ กสท. เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของ พีซ ทีวี เมื่อ 23 มี.ค.58 โดย กสท. ได้มีมติในการประชุมเมื่อ 23 มี.ค.58 ให้ตักเตือน พีซ ทีวี เป็นลายลักษณ์อักษรให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และที่กำหนดในข้อตกลง ต่อมา พีซ ทีวี ยังคงออกอากาศรายการที่ยังขัดต่อข้อตกลงดังกล่าวอีก จนกระทั่ง กสท. ได้มีมติในการประชุมเมื่อ 30 มี.ค.58 ให้พักใช้ใบอนุญาต โดยการพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวส่งผลให้ พีซ ทีวี ต้องยุติการออกอากาศเนื้อหารายการตั้งแต่ 10 เม.ย.58 จนถึง 17 เม.ย.58 เมื่อ พีซ ทีวี ออกอากาศอีกครั้งใน 18 เม.ย.58 ก็ได้มีการออกอากาศเนื้อหาใน 18 เม.ย.58 มีเนื้อหาละเมิดต่อข้อตกลงฯ ในลักษณะเช่นเดิม ดังนั้นสำนักงานได้นำเสนอวาระต่อที่ประชุม กสท. เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้มีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ซึ่งมติดังกล่าว กสท. เป็นการพิจารณาตามกระบวนการมาเป็นลำดับ ด้วยการทำความเข้าใจ แจ้งเตือน พักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ เมื่อ กสท. ได้พิจารณาถึงการกระทำโดยถี่ถ้วนว่าเป็นลักษณะเข้าข่ายการกระทำที่เป็นความผิดซ้ำซาก ที่ประชุมจึงได้มีมติดังกล่าว ครับ



คุณหญิงสุดารัตน์ ชวนชาวไทยร่วมบริจาคสิ่งของจำเป็นช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล

     






        จากเหตุการณ์แผ่นดิไหว 7.8 ริกเตอร์ ที่เนปาลเมื่อวานนี้ นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับชีวิตเพื่อมนุษย์ เกือบ 2,000 ชีวิต ที่สูญเสียไป และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันชีวิต รวมทั้งการสูญเสียโบราณสถานในเขตเมืองเก่าของกรุง KATHMANDU ที่เป็นเมืองมรดกโลกอายุเก่าแก่กว่า 800 ปี อย่าง PATAN DURBAR SQUARE และ KATHMANDU DURBAR SQUARE ที่เสียหายอย่างหนัก

วัดไทยลุมพินีและ องค์พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร (พระพุทธเจ้าน้อย) ที่เราชาวไทยได้ร่วมใจกันจัดสร้าง นำไปประดิษฐาน ณ.ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล สถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ไม่ได้รับความเสียหายเพียงมีรอยร้าวที่ฐานเล็กน้อย รวมทั้งอาคารพลังศรัทธาไทย,ทางเดิน,ลานปฏิบัติธรรม ที่ชาวไทยได้ร่วมใจกันจัดสร้าง ก็ไม่ได้เสียหายเช่นกันค่ะ

แต่ส่วนอื่นๆโดยเฉพาะที่  KATHMANDU เสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนเนปาล ขณะนี้ไร้ที่อยู่ ขาดแคลนอาหารและเสื้อผ้า รวมทั้งยาและของใช้จำเป็นหลายแสนคน โดยเฉพาะขาดแพทย์ พยาบาลเพื่อรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน

โดยที่ชาวไทย  เราได้เคยร่วมบุญมหากุศลบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าซึ่งตั้งอยู่ ณ.ประเทศเนปาลมาแล้ว  จึงถือเป็นความมหากุศลที่พวกเราชาวไทยและชาวเนปาลได้ทำร่วมกัน

ทางคณะสงฆ์นำโดย พระพรหมสิทธิ สำนักกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ  พระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล,วัดไทยลุมพินี และมูลนิธิไทยพึ่งไทย (โครงการบูรณะสถานที่ประสูติ)   จึงขอเชิญพี่น้องชาวไทยร่วมบริจาค อาหาร,เสื้อผ้า(ใหม่),ยารักษาโรค รวมทั้งสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต   
       
       หรือบริจาคเงินได้ที่บัญชี “ช่วยเหลือผู้ประสพภัยแผ่นดินไหว เนปาล ” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวงเวียนโอเดียน    เลขที่บัญชี 179-204684-7 
       (เมื่อบริจาคแล้วกรุณาส่งใบโอนเงินมาที่   THERDWONG@GMAIL.COM.,     FAX 02-621-1816 พระวิจิตรธรรมาภรณ์   ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

ร่วมสร้างมหากุศลช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ร่วมกันนะคะ

                                                                          ด้วยจิตคารวะ
                                                              คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์


ติดต่อสอบถามได้ที่ มูลนิธไทยพึ่งไทย 02-971-7575
หรือที่  Facebook : คุณหญิงสุดารัตน์ ยุราพันธุ์

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

เพื่อไทย ชวนประชาชนติดตามอภิปรายร่าง รธน.ใกล้ชิด ชี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กติกา แต่อยู่ที่อันธพาลไม่เคารพกติกา

รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558



พท. ชี้ ปัญหาอยู่ที่อันธพาลไม่เคารพกติกา



นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) พิจารณาเสร็จแล้ว ว่า พรรคเพื่อไทยขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่า ติดตามการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างใกล้ชิด เพราะบ้านเมืองเป็นของเราทุกคน หากปล่อยผ่าน ก็ยากเกินกว่าจะแก้ไข ลำพังชุดความคิดหลักของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ที่จะกำจัด เผด็จการเสียงข้างมาก ก็น่าจะผิดทิศผิดทาง เพราะเสียงข้างมากหรือเสียงส่วนใหญ่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย หรือต่อไป จะเลือกเอาคนคะแนนน้อยสุด หรือลากตั้งเป็นหลัก แล้วใช้วาทกรรมบิดเบือนว่าเลือกตั้งโดยอ้อม อะไรคือความต่างของคำว่า ประชาชนกับพลเมือง เพิ่มอำนาจพลเมืองคือพลเมืองกลุ่มไหนที่ได้อำนาจเพิ่ม หรือ เพิ่มเฉพาะกลุ่มสาวกนกหวีด ที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ ปัญหาที่กมธ.ยกร่างฯชุดนี้มองไม่เห็น คือ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่กติกา แต่อยู่ที่อันธพาลไม่เคารพกติกา พอเลือกตั้งแพ้ ก็ออกมาป่วน ชัตดาวน์ประเทศ ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้ง ทำร้ายประเทศ รฐน.ฉบับนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร พรรคเพื่อไทย จึงเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ที่ให้ตั้งคณะทำงานประกบกมธ.ยกร่างฯ รวมทั้งจัดให้มีการศึกษาวิจัย เปรียบเทียบระบุปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาเป็นกุนซือ เพราะลำพัง ชุดความคิดหลักของนายบวรศักดิ์ ไปต่อได้ยากเต็มทน

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

"โคทม อารียา" ย้ำ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรยึดติดว่าความคิดของตนจะดีที่สุดตลอดไป และไม่ควรบัญญัติให้มีองค์กร/สมัชชา/คณะกรรมการ เพิ่มขึ้นมากมายจนแทรกแซงหลักการ3อำนาจอธิปไตย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 เมษายน 2558 ณ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมถกแถลงมากกว่า 60 คน ทั้งจากกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด  นายโคทม  อารียา  ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้แถลงว่า  

ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่จะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุขและมีข้อเสนอว่า รัฐธรรมนูญควรสอดคล้องกับ ความเป็นใหญ่ของประชาชนหรืออำนาจอธิปไตย เป็นของ มาจาก และเพื่อประชาชนดังนั้น ควรให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติ ควรให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้คณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดนโยบายและบริหารราชการรวมทั้งดำเนินการปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมได้ โดยไม่ถูกควบคุมโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นจนเกินความสมดุล และควรลดอำนาจของราชการเช่นในการจัดการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรยึดติดว่าความคิดของตนในตอนนี้ จะดีที่สุดตลอดไป จนบัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคตกระทำได้ยากมาก

        สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันจัดประชุมถกแถลงรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17-19 เมษายน 2558 ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน ทั้งจากกรุงเโดยหวังให้เป็นเวทีการถกแถลงแจงเหตุผลเกี่ยวกัยร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

        อนึ่ง ที่ประชุมได้ถกแถลงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้
        - รัฐธรรมนูญควรบัญญัติเฉพาะหลักการสำคัญ ส่วนรายละเอียดที่อาจเปลี่ยนตามกาลสมัยควรบัญญัติเป็นกฏหมายธรรมดา

        - ไม่ควรบัญญัติให้มีองค์กร/สมัชชา/คณะกรรมการ เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไข้วเขวหรือการแทรกแซงต่อหลักการที่ว่า อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยซึ่งแบ่งเป็นสามอำนาจนั้น พระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

        - คำว่า พลเมืองซึ่งดูเหมือนจะตรงกับคำว่า citizen และหมายความว่าผู้มีสัญชาติไทยนั้น น่าจะตรงกับคำที่เคยใช้อยู่เดิมคือ ปวงชนชาวไทยแต่มีนัยแคบลงหากยึดโยงกับนิยามความเป็นพลเมือง (ที่ดี) ตามมาตรา 26 และหน้าที่พลเมืองตามมาตรา 27 คำว่าพลเมืองยังมีความหมายที่แคบกว่าคำว่า บุคคลที่น่าจะหมายถึงทุก ๆ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และยิ่งแคบกว่าคำว่า มนุษยชนที่หมายถึงมนุษย์ทุกคน

- ไม่ควรทำให้ประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องกว้าง กลายมามีผลบังคับใช้เหมือนกฎหมายที่ต้องเขียนอย่างรัดกุม อนึ่ง ประมวลจริยธรรมควรคำนึงถึงสถานภาพที่ต่างกันไปของบุคคล

- ขอเสนอให้ตัดบทบัญญัติว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติซึ่งมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางเกินไปและจะดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติได้ยาก แต่ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าน่าจะศึกษาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติก่อนจึงจะมาพิจารณาในประเด็นนี้

- การเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อควรใช้รายชื่อปิดเพราะเป็นการเรียบง่าย แต่ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าควรใช้บัญชีรายชื่อเปิดเพื่อลดอิทธิพลนายทุนพรรค  นอกจากนี้เห็นว่าควรมีเฉพาะบัญชีรายชื่อพรรค ไม่ควรมีบัญชีรายชื่อกลุ่มการเมือง เพราะควรส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ควรให้มีผู้สมัครอิสระโดยไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมือง

- ไม่ควรห้าม ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับทุกคน แต่ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

- ในส่วนของลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 111 ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรมีผลย้อนหลังโดยเฉพาะในวงเล็บ (8) ที่ตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต แต่บางส่วนเห็นว่าควรตัดสิทธิ์หากในอดีตเคยกระทำการทุจริต (วงเล็บ 6, 7 และ 9)

- ส.ว. ควรมี จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่บางส่วนเห็นว่าควรมี ส.ว. จำนวน 150 คน โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และ 73 คน มาจากการสรรหา


-------------------------------------

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชำแหละ 5 ประเด็น ร่างรัฐธรรมนูญ 2558

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเพื่อทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่กำลังเข้าสู่การอภิปรายในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน 2558 โดยได้ตั้งข้อสังเกตบางประการไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีมาจาก "การเลือก" ของ ส.ส. แต่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง หากมาจากการเลือกตั้ง สภาผู้แทนฯ โหวตโดยใช้คะแนนเสียงเกิน1/2 ในกรณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สภาผู้แทนฯ ต้องใช้คะแนนเสียง 2/3 (ม. 172)

กำหนดวาระว่าห้ามเกิน 2 สมัย รัฐธรรมนูญปี 50 ใช้คำว่าห้ามเกิน 8 ปี แปลว่าคราวนี้การดำรงตำแหน่งอาจยิ่งสั้นลง เพราะ 2 วาระ อาจไม่ถึง 8 ปี

นำหลักแบ่งแยกอำนาจแบบฝรั่งเศสซึ่งเคยใช้ใน รัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้ หมายความว่า ส.ส.ต้องลาออกมาเพื่อรับตำแหน่ง รมต.

2. สภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรจำนวนโดยประมาณ 450 คน มาจาก ก) เลือกตั้งระบบเสียงข้างมากธรรมดา 1 เขต 1 คน จำนวน 250 คน ดังนั้นเขตเลือกตั้งจะใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเปลี่ยนจากเดิม 375 เขต เหลือ 250 เขต

ข) เลือกตั้งแบบผสมเขตและสัดส่วน (MMP) จำนวนประมาณ 200 คน โดยแบ่งประเทศเป็น 6 เขต น่าจะตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แบ่งไว้ แต่ละภาคประชากรไม่เท่ากัน ดังนั้นแต่ละเขตอาจมี ส.ส. จำนวนไม่เท่ากัน การเลือกตั้งบัญชีรายชื่อเป็นแบบเปิด ผู้ใช้สิทธิสามารถเลือกผู้สมัครในบัญชีที่พรรค/กลุ่มการเมืองเสนอมา ได้ 1 ชื่อ

ข้อสังเกตคือ ประชาชนมีแนวโน้มเลือกผู้สมัครที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ส่วนผู้สมัครคนอื่น ๆ ในบัญชี ก็ต้องหาเสียงแข่งกันเพื่อให้ตัวเองถูกเลือก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะได้เห็นการเลือกตั้งที่เน้นตัวบุคคล มากกว่านโยบายและแบรนด์พรรคการเมือง เคยประเมินประเด็นนี้ไปแล้วว่า จะทำให้พรรคขาดแรงจูงใจนำเสนอนโยบาย ทำให้การซื้อเสียงโดยตัวบุคคลเพิ่มสูงขึ้น และจะทำใหระบบอุปถัมภ์และเจ้าพ่อท้องถิ่นกลับมามีบทบาทในการเมืองระดับชาติ เพราะทั้ง ส.ส เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เน้นตัวบุคคลทั้งสองระบบ

ประเทศต้นแบบอย่างเยอรมัน และประเทศอื่น ๆ อีก 9 ประเทศที่ใช้ระบบ MMP ใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด ส่วนประเทศที่ใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด มักไม่มี ส.ส. เขต เช่น อินโดนีเซีย

ในมาตรา 112 มีข้อกำหนดว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง หมายความว่าไม่จำเป็นต้องจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นแต่เพียงการรวมกลุ่มอย่างหลวมๆ ซึ่งดูเหมือนจะเอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มโดยธรรมชาติ

แต่ในมาตราเดียวกันกลับกำหนดว่าหากพรรคหรือกลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อในภาคใด ก็ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในภาคนั้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วย

มองได้ว่าเป็นมาตรการที่สร้างข้อจำกัดให้พรรคขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองขนาดเล็ก ทุนน้อยประสบปัญหาในการหาผู้ลงสมัครในนามพรรค นอกจากนั้นยังเอื้อพรรคภูมิภาค สะกัดพรรคที่ได้รับความนิยมระดับชาติ เช่นพรรครักไทยของคุณชูวิทย์ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2554 ส่งแต่บัญชีรายชื่อ ไม่ส่งผู้สมัครระบบเขต

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญได้ทำให้การการช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน มีนัยสำคัญต่อผลเลือกตั้ง โดยกำหนดว่า ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดหรือไม่เลือกบัญชีใด (ม. 113)

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยสภาผู้แทนฯ ทำได้เช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 คือ อภิปรายนายกรัฐมนตรีใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1/5 อภิปราย รมต รายบุคคล ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1/6 และหลังจาก 2 ปี ลดเหลือเพียง ½ ของฝ่ายค้าน

ผู้เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตาแหน่งทางการเมืองหมดสิทธิลงเลือกตั้ง

3. วุฒิสภาจำนวน 200 คน มาจาก 5 ช่องทาง

ก) 77 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน แต่ผู้ลงสมัครต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการจังหวัดผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม 10 คน ส่วนคณะกรรมการจังหวัดชุดนี้มีที่มาอย่างไร รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ ต้องรอดู พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ข) ผู้เคยเป็นปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า 10 คน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ 10 คน โดยเลือกกันเองในแต่ละประเภท

ค) ตัวแทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ เลือกกันเอง 15 คน

ง) ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น เลือกกันเอง 30 คน

จ) ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ มาจากการสรรหา 58 คน ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาเป็นใครบ้าง มีที่มาอย่างไร ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ ปี 40 และ 50 ที่กำหนดว่า สว. ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำากว่าปริญญาตรี และเหมือน รัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ห้ามเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. นอกจากนี้ยังห้ามผู้เคยเป็น ส.ส. ภายใน 5 ปี และ เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา 2 ปี มาเป็น สว.ด้วย

4. คณะกรรมการ สภา สมัชชา และองค์กรที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ถ้านับไม่ผิด รัฐธรรมนูญได้จัดตั้ง คณะกรรมการ องค์กร สภา สมัชชา ขึ้นมาใหม่ ที่มุ่งหมายให้แสดงบทบาทสำคัญในอนาคตไว้อย่างน้อย 10 องค์กร ได้แก่
1.สภาผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรม 77 จังหวัด (10 คน) กลั่นกรองผู้สมัคร สว.
2.สภาตรวจสอบภาคพลเมือง (50 คน) ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในเขตจังหวัดของตน 77 จังหวัด
3.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
4.คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ
5.คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม
6.ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ
7.คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)
8.ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (เป็นการยุบรวมคณะกรรมสิทธิมนุษยชนฯ เดิม เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน)
9.คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
10.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ

การจัดการเลือกตั้ง จะไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กกต แต่จะมี คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการที่แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตารวจแห่งชาติ มาดำเนินการแทน (มาตรา 268)

5. เรื่องโดยรวม มีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น

5.1 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน กำหนดไว้ชัดเจนด้วยประโยคว่า
“ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็นพลเมือง” ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง (มาตรา 26 และ 27) มาก่อนมาตราที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

คุณสมบัติของพลเมืองเช่น มีค่านิยมที่ดี มีวินัย รู้รักสามัคคี มีความเพียร พึ่งตนเอง เสียภาษีอากรโดยสุจริต ไม่ทำให้เกิดความเกลียดชังกัน ฯลฯ รัฐมีหน้าที่ต้องปลูกฝัง เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองตามมาตรานี้

5.2 อำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 7 ว่า สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ชี้ขาดได้ กล่าวคือ ไม่ต้องฟ้องผ่านอัยการสูงสุดตามที่เคยถกเถียงกัน

5.3 พรรคการเมืองจะถูกควบคุมภายใต้แนวคิด “ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี” มีการใช้คำว่า การสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง มีความพยายามที่จะให้พรรคจัดการเลือกตั้งขั้นต้น โดยใช้คำว่าหยั่งเสียงประชาชน อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ จะต้องดู พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าจะไปไกลแค่ไหน

5.4 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการเขียนไว้เสมือนทำได้เหมือนภายใต้รัฐธรมนูญ 50 แต่ในทางปฎิบัติ จะเป็นไปได้ยากมาก เพราะมีข้อห้ามหลายประการ เช่น ห้ามเปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบของแต่ละสภา ห้ามแก้ไขกลไกที่กระทบวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมถึงการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ข้อห้ามเหล่านี้ครอบคลุมแทบทุกสาระหัวใจของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 300)

5.5 ให้ความคุ้มครองการใช้อำนาจของ คสช. และรัฐบาลปัจจุบัน โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 315 ระบุว่าบรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

5.6 ใครที่ตื่นเต้นกับเนื้อความในมาตรา 23 ขอให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตราเดียวกันเพราะเขียนไว้เหมือนกันแทบทุกคำพูด

ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

มหกรรมอัดฉีบงบฯ ของรัฐบาลที่ไม่เอาประชานิยม ไม่ถึงปี จัดไปเบาๆ 120,000 ล้าน

       


       “แม่ลูกจันทร์” แห่งสำนักข่าวหัวเขียว ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 7 เม.ย. 2558  ได้รวบรวมว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณ “อัดฉีด” อะไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเตือนรัฐบาลว่า อย่าแจกเพลินเกินไปจนกระทบวินัยการคลัง โดยทิ้งท้ายอย่างเจ็บแสบว่า


“ไม่ชอบประชานิยม ก็อย่าเผลอประชานิยมซะเอง”

       มาดูหนังตัวอย่างของ “แม่ลูกจันทร์” ว่า ในเวลาไม่ถึงปี รัฐบาลบิ๊กตู่ ทุ่มงบแจกกระจายไปแล้วเท่าไหร่บ้าง


1.       อัดฉีดงบ 40,000 ล้านบาท แจกเงินช่วยพี่น้องชาวนา


2.       อัดฉีดงบ 8,500 ล้านบาท แจกเงินช่วยชาวสวนยาง

3.       อัดฉีดเงินอีก 22,900 ล้านบาท ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 1.9 ล้านคน

4.       อัดฉีดเงิน 40,000 ล้านบาท จ้างแรงงานเกษตรกรช่วยภัยแล้ง อีก 2 ล้านคน

5.       อัดฉีดงบพิเศษ ตำบลละ 1 ล้านบาท 3,500 ตำบล รวมเป็นเงิน 3,500 ล้านบาท

6.       อัดฉีดแจกเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอีก 400 บาทต่อเดือนต่อคน ทดลอง1ปี วงเงิน 600 ล้านบาท

7.       อัดฉีดงบ 4,500 ล้านบาท ล้างหนี้เกษตรกรอีก 2.8 หมื่นราย


   กดเครื่องคิดเลข เบ็ดเสร็จ 120,000 ล้านบาท!!

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันธรรมศาสตร์ ร่วมรำลึกพระคุณ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ด้านรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถา เผยหลักการนิติธรรมแบบไทยๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ 2558





       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และสมาคมศิษย์เก่า จัดงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2558” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์


       โดยในช่วงเช้า เป็นพิธีสงฆ์ และพิธีวางพานพุ่ม สักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นประธานในพิธี 


       จากนั้น เป็นพิธีมอบรางวัลแก่นักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี 2558 และพิธีมอบรางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์” โดยผู้ที่ได้รับรางวัลนักกฎหมายดีเด่นในปีนี้ คือ นายสรวิศ วงศ์บุญสิน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


       ขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในหัวข้อ “หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์” โดยเปิดเผยถึงหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 หรือ หลักนิติธรรมแบบไทยๆ ซึ่งมาจากการรวมเอาหลักการนิติรัฐ นิติธรรม ของอังกฤษ ยุโรป และของอเมริกา ประกอบด้วย 5 ข้อ มีผลผูกมัดทุกองค์กร คือ

1. ต้องใช้หลักกฎหมายเป็นใหญ่ เหนืออำเภอใจ
2. ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ/ เสรีภาพ/ เสมอภาค
3. ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ/ การตรวจสอบอำนาจ/ และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
4. ต้องยึดหลักนิติกระบวน เช่น การไม่ออกกฎหมายย้อนหลังมาลงโทษทางอาญา/ การไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อน/ การไม่บังคับให้บุคคลต้องมาปรักปรำตนเอง
5. คือ การมีศาลและกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นอิสระและเป็นกลาง


       โดยนายวิษณุ กล่าวว่า หลักนิติธรรมของไทยดังกล่าว อยู่ในมาตรา 3 วรรค 2 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเชื่อว่า สามารถแก้ไขความแตกต่าง ขัดแย้ง ทางสังคมได้ 

       ทั้งนี้ ศาสตรจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ถือเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของนักนิติศาสตร์ซึ่งประกอบคุณงามความดี รับใช้ประเทศชาติและสังคมไว้มากมาย อาทิ เคยดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2545 สิริอายุได้ 94 ปี

ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

เมื่อ วิษณุ เครืองาม เลคเชอร์ “นิติธรรมควรใช้กับท่านผู้นำเป็นลำดับแรก”



       เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 5 เมษายน ปีนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ถูกรับเชิญไปเป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์” ท่ามกลางผู้มีเกียรติจากประชาคมธรรมศาสตร์ คนสำคัญในแม่น้ำ 5 สาย อย่างนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัย และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ซึ่งทั้งสอง ล้วนเป็น สนช.คนสำคัญ

       การปาฐกถาในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ และมีนัยสำคัญ เพราะหากจับคำพูดของนายวิษณุ เครืองาม กุนซือ มือกฎหมายของ คสช. ได้ ย่อมรู้ทิศทางการเมืองไทยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

       จากหัวข้อ “หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์” นายวิษณุ เริ่มจากการอธิบายถึงหลักนิติธรรม ว่าหมายถึง กฎแห่งกฎหมาย หรือ การปกครองที่มีกฎหมายเป็นหลัก มีที่มาเพื่อจำกัดอำนาจอันล้นพ้นของชนชั้นผู้ปกครอง เปรียบนิติธรรมเป็นเหมือนเมฆ ที่ให้กำเนิดฝน คือ กฎหมาย

       โดยนายวิษณุ ยกย่องว่านายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์และอดีตนายกพระราชทานผู้นี้ เป็นตัวอย่างของผู้มีหลักนิติธรรม


       ที่สำคัญ ท่านรองฯวิษณุ เปิดเผยถึงหลักนิติธรรม ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 58 หรือ หลักนิติธรรมแบบไทยๆ ซึ่งมาจากการรวมเอาหลักการนิติรัฐ นิติธรรม ของอังกฤษ ยุโรป และของอเมริกา ประกอบด้วย 5 ข้อ มีผลผูกมัดทุกองค์กร อันบัญญัติหลักนิติธรรมนี้ไว้ในมาตรา 3 วรรค 2 คือ

1. ต้องใช้หลักกฎหมายเป็นใหญ่ เหนือหลักอำเภอใจ 
2. ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค 
3. ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบอำนาจ และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน 
4. ต้องยึดหลักนิติกระบวน เช่น การไม่ออกกฎหมายย้อนหลังมาลงโทษทางอาญา การไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อน การไม่บังคับให้บุคคลต้องมาปรักปรำตนเอง 
5. คือ การมีศาลและกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

       จากนั้น นายวิษณุ กล่าวถึงความขัดแย้งของมนุษย์ ว่าสามารถสำแดงออกมาได้ 3 รูปแบบ คือ
1. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ 
2. ความขัดแย้งจากความเหลื่อมล้ำ หรือความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม 
3. ความขัดแย้งจากอุดมการณ์ 

       ซึ่งดูเหมือนว่าความขัดแย้งจากอุดมการณ์ จะเป็นสิ่งที่เยียวยาได้ยาก เพราะมิได้แฝงด้วยผลประโยชน์ และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะคิดเห็นแตกต่างกัน อีกทั้ง เป็นหัวข้อหลักของการปาฐกถาครั้งนี้ ว่าจะใช้หลักนิติธรรมลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างไร

       นายวิษณุ พูดถึงสูตรการลดความขัดแย้งว่า มี 4 สูตรที่ใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต คือ 
1. บางเรื่อง ควรปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องแก้ไข เรื่องบางเรื่องไม่ควรไปขุดคุ้ย เพราะจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว หรือพูดง่ายๆก็คือ ทำเป็นลืมๆบ้าง ส่วนจะใช้เมื่อไหร่ ให้ดูที่กาละ-เทศะ 
2. การปรองดอง หรือ การพบกันครึ่งทาง โดยเน้นการเจรจา 
3. การแก้ไขที่ต้นเหตุความขัดแย้ง 
4. ต้องทำให้รู้ว่าใครผิดใครถูก แล้วจัดการแก้ไขความขัดแย้ง

       ทั้งนี้ นายวิษณุ ย้ำว่า ห้ามลืมการนำหลักนิติธรรม เข้าไปจับกับ 4 สูตรนี้ จึงจะลดความขัดแย้งได้ มิเช่นนั้น จะกลายเป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาใหม่ ฉะนั้น ความขัดแย้งในปัจจุบัน การอภัยโทษ หรือ การนิรโทษกรรม จึงยังเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ

       อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รองนายกฯวิษณุ กล่าวถึงที่มาของหลักนิติธรรมว่า เกิดขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจอันล้นพ้นของชนชั้นปกครองหรือผู้นำ มิให้ทำอะไรตามอำเภอใจ การปาฐกถาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้มีอำนาจตาม มาตรา 44 อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมานั่งฟังด้วย.. 




ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี แถลงการณ์ จี้รัฐ ปล่อยตัว หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุกคามนักศึกษา




แถลงการณ์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุกคามเยาวชนนักศึกษา

       เนื่องด้วยเหตุการณ์ปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งเป็นนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพจำนวน 22 คน ในวันที่ 2 เมษายน 58 โดยใช้อำนาจกฎอัยการศึกในการปิดล้อม ตรวจค้นและควบคุมตัวในครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ปิดล้อม ตรวจค้นหอพักนักศึกษานักกิจกรรม ควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษาเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี ตามสถิติการปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมตัวโดยใช้กฎอัยการศึก พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตลอดระยะเวลาสิบเอ็ดที่ผ่านมา ถึงแม้นว่าก่อนหน้านี้วันเดียว รัฐบาลไทยที่กรุงเทพได้ประกาศยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกฉบับ1/2557 ทั่วราชอาณจักร และออกคำสั่ง ใช้รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) มาตรา44 ท่ามกลางความเป็นห่วงกังวลของหลายๆฝ่าย แต่ก็น่าเจ็บปวดสำหรับชาวปาตานีที่ยังคงมี กฎอัยการศึกประกาศใช้ในปาตานีไม่ได้ถูกยกเลิกด้วย นำมาสู่การใช้อำนาจในการคุกคามเยาวชนนักศึกษาครั้งนี้ 

       สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีเป็นองค์กรทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาตานีโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลขอเรียกร้องดังต่อไปนี้ 

1.ขอให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยทันที หยุดคุกคามเยาวชนนักศึกษาและขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังเพื่อมิให้การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีก
 
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยที่กรุงเทพยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในพื้นที่ปาตานีซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมากจากการใช้กฏอัยการศึก และถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่หล่อเลี้ยงไฟความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่มาโดยตลอด

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
วันที่ 3 เมษายน 58


 ขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

ลดาวัลลิ์ เสนอแก้ รธน. 4 ประเด็น ทางเลือก หากไม่ทำประชามติ

     

       นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความเห็นว่าหากทำประชามติไม่ผ่านจะทำให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญล่าช้าไปอีกหลายปี รวมถึง ยังสิ้นเปลืองงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท

       ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงเสนอวิธีที่จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดมาประกาศใช้ตามกำหนดเวลาและไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วย จึงเห็นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรรีบแก้ไข 4 ประเด็นสำคัญคือ

1. นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง
2. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ต้องมาจากการเลือกตั้ง
3. ระบบการเลือกตั้งต้องไม่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
4. ต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจผ่านองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ
     
       นางลดาวัลลิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้ง 4 ประเด็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินแก้ไขได้ทันที เนื่องจากจะมีการเปิดประชุมรับฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ในวันที่ 20 ถึง 26 เมษายนนี้ อีกทั้ง ตามโรดแม็ปได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สามารถเสนอคำแปรญัตติขอแก้ไข ในวันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่ง กมธ.จะต้องพิจารณาคำขอแปรญัตติทั้งหมด 315 มาตราไปจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม จึงจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุม สปช.ลงมติเห็นชอบในวันที่ 6 สิงหาคม หากได้รับความเห็นชอบ ก็ประกาศใช้ในเดือนกันยายน จากนั้น ก็จะจัดทำและประกาศใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูกภายใน 60 วัน ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในปี 2559 ตามโรดแม็ปของ คสช. 

       ทั้งนี้ นางลดาวัลลิ์ ได้กล่าวย้ำว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ประเด็น เป็นเรื่องสำคัญที่ให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองอย่างเสมอภาค ซึ่งจะนำความเชื่อมั่นจากนักธุรกิจ นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกลับมาทันทีเมื่อมีการเลือกตั้งตามกติกาในรัฐธรรมนูญที่ดี