วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อาจารย์ธิดา ชี้ ป.ป.ช.คือมือพิฆาตของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จากกรณียื่นฟ้องอดีตนายกฯสมชาย ย้ำพฤติกรรมปรองดองแต่ปาก พร้อมระบุ “อย่าเรียกสองมาตรฐาน เพราะไม่เคยมีมาตรฐาน”



อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์กับ TV24 สถานีประชาชน ในช่วงข่าวเที่ยง News Room 12.00 น. วันที่ 13 ก.พ. 2558 ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำคดีม็อบพันธมิตรฯ เมื่อปี2551 ไปฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเอาผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวกนั้น

ที่ปรึกษา นปช. กล่าวว่า มองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากมีความพยายามในการจัดการพรรคพลังประชาชน ถึง พรรคเพื่อไทย หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบอบทักษิณ เป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้สิ้นซาก เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ถ้าเทียบกับคดีอื่นๆ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการตายของคนร่วมร้อยศพ ในปี 2553 นั้นต่างกันอย่างลิบลับ นอกจากนี้ คดีของอดีตนายกฯสมชาย ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งก็มีมติไม่ถอดถอน รวมทั้ง อัยการก็ไม่สั่งฟ้อง  ขณะที่ ป.ป.ช.ก็ใช้สิทธิ์ที่ว่า ตัวเองสามารถฟ้องเขาได้ หรือไม่ฟ้องก็ได้  อำนาจตัวนี้ เป็นอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบหรือใครดูแลเลย เป็นเงื่อนงำของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้องค์กรอิสระเหล่านี้เชื่อมโยงกันกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ตุลาการส่วนอื่นๆ ทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ มีอำนาจที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง แล้วก็สอดรับกัน
ฉะนั้น “มันตรงไปตรงมาว่ามันไม่ใช่สองมาตรฐาน มันยิ่งกว่า คือหมายความว่า มันไม่มีมาตรฐานเลย” ถ้าพูดตรงๆก็คือว่า มันไม่ได้มีหลักนิติธรรมใดๆ แต่ว่ามันเป็นการใช้ช่องว่างหรือบางส่วนในกฎหมายเพื่อกระทำกับฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมือง ดังที่ทาง นิวยอร์กไทม์ ตีแผ่ว่าเผด็จการทหารไทยปราบฝ่ายตรงข้ามด้วย 'กระสุนกระดาษ' ฆ่าให้ตายโดยไม่ใช้กระสุนตะกั่ว  อันนี้แสดงว่าเป็นที่รู้กันทั่วไปแม้กระทั่งคนต่างประเทศ ไม่เฉพาะคนไทย

ที่ผ่านมาการทำงานของ ป.ป.ช. มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่?
                การกระทำของ ป.ป.ช. แน่นอน เป็นเหตุสำคัญ ซึ่งขณะนี้ สิ่งที่ ป.ป.ช.ทำทั้งหมด เรียกว่าไม่สามารถนำไปสู่ความปรองดองได้เลย แล้วสิ่งที่ ป.ป.ช.ทำถ้าจะบอกว่ามันเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง หากจะพูดให้ชัดอีกทีต้องบอกว่า “มันเป็นความต่อเนื่อง ทำให้ความขัดแย้งสามารถถูกขยาย คือการเลือกข้างใดข้างหนึ่งในความขัดแย้ง แล้วใช้อำนาจที่มีในมือจัดการ” อันนี้ต้องพูดกันตรงๆ ก็ในเมื่อเวลาทำ คุณทำได้ ฉะนั้น เราก็มีสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ได้

สาเหตุอะไรที่ทำให้การทำงานของ ป.ป.ช.ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นสองมาตรฐานมาโดยตลอด?
                เพราะว่ามีแนวคิดตั้งแต่ต้น ที่จะสร้าง ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ ให้จัดการกับฝ่ายการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ มีการวางบทบาทให้เป็นอย่างนี้  มีผู้วางบทบาทของ ป.ป.ช.ส่วนหนึ่ง และวางศาลรัฐธรรมนูญไว้อีกส่วนหนึ่ง เรียกว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว และนำไปสู่การพิฆาตฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง

เราพูดได้ไหมว่า จากกรณีอดีตนายกฯสมชาย เป็นการรุกไล่ หรือ ไล่ล่าทางการเมือง?
                แน่นอน สามารถพูดได้ ถ้าในเมื่อ ป.ป.ช.กล้าทำ ต้องกล้ารับ และเราต้องเข้าใจว่ามีการวางบทบาท วางภาระหน้าที่ของแต่ละส่วน ส่วนของ ป.ป.ช.เรียกว่าเป็นผู้รับเรื่อง และให้ตัวเองเป็นผู้เสนอเรื่องเสียเอง ในการชงเรื่องที่จะเป็นจุดจบของฝั่งปฏิปักษ์ทางการเมือง คือในเมืองไทยต้องยอมรับว่าอย่างน้อยมี ขั้วทางการเมืองใหญ่ๆ คือ ฝั่งอนุรักษ์นิยม กับฝั่งที่ต้องการบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย  ฝั่งอนุรักษ์นิยมเขาไม่มีสิ่งอื่นใด เพราะเขาไม่ชนะใจประชาชน จึงต้องมีมือพิฆาตเอาไว้ในองค์กรของรัฐ ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมยังสามารถที่จะทำงานได้ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ออกแบบมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ตอน 2540 ยังมีฝ่ายประชาชนเข้าไปจำนวนมาก แต่พอปี 2550 ออกแบบให้มันถักทอให้มันโยงใย จนอย่างน้อยส่งผลต่อฝ่ายการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

หาก ป.ป.ช.ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จะสวนทางกับการสร้างความปรองดองไหม?
                ต้องถามว่าใครเขาอยากปรองดอง ในความเป็นจริงฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการความปรองดอง สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำมันสวนทางกัน เราจะดูว่าปรองดองหรือไม่ต้องดูจากการปฏิบัติ ในทัศนะของอาจารย์มองว่า “ถ้าฝั่งอนุรักษ์นิยมต้องการปรองดอง ต้องพัฒนาตัวเองให้ชนะใจประชาชน  แต่ว่าการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ กองทัพ หรือ กระบวนการยุติธรรมกระทำต่อฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองตลอดเวลา แสดงถึงความคิดที่ไม่ต้องการปรองดองแม้แต่น้อย”

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เปิดใจ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ธรรมศาสตร์ ถึงวีรกรรมท้าทายเผด็จการกลางงาน'บอลประเพณีฯ


เปิดใจ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังขบวนล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ท่ามกลางการคุมเข้มของทหาร และเสียงชื่มชมจากผู้รักประชาธิปไตย..







       นายวชิรวิทย์ คงคาลัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างผลงาน ขบวนพาเหรดล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวทีวียี่สิบสี่ สถานีประชาชน ถึงวีรกรรม ในการฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ความมั่นคง จนสามารถนำหุ่นล้อการเมืองเข้าไปในสนามได้

       โดยนายวชิรวิทย์ กล่าวถึงความหมายของหุ่นแต่ละตัวว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้คนดูตีความเอง เช่น ในหุ่นชุด “โฆษณาชวนเชื่อง” ที่เป็นภาพเยาวชน กำลังนั่งดูรายการคืนความสุขของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจตีความได้ว่า ท่านผู้นำกำลังกล่อมเกลา



       ส่วนหุ่นล้อการเมืองในชุด “ข้านิยม12ประการ” ที่เป็นภาพคุณครูกำลังสอนค่านิยม12ประการ แต่พอฉีกกระดาษที่กระดานดำออกมา กลับกลายเป็นคำว่า ประชาธิปไตย ที่ถูกขีดฆ่า ซึ่งตรงนี้ อาจสะท้อนความหมายว่า ค่านิยม12ประการ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่?


       ส่วนหุ่นล้อในชุด "ไทยแลนด์ฟาร์ม" ก็อาจสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หรือเรื่องชนชั้นได้



      ขณะที่เหตุการณ์ชุลมุน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เข้ามาตรวจสอบ  ยึดแผ่นป้ายผ้า  หรือมีการปิดกั้นประตู  รวมทั้งตรวจสอบหุ่นในขบวนทุกตัวนั้น ทางกลุ่มอิสระล้อการเมือง มีการประเมินเหตุการณ์ไว้แล้ว


        จึงได้ใช้วัสดุหุ้มตัวหุ่นไว้อีกชั้นเพื่ออำพราง เช่น หุ่นล้อในชื่อชุด “(ปะ)ยึดอำ(โอ)นาจ” ที่ตอนแรกใช้ผ้าดำหุ้ม แล้วหลอกเจ้าหน้าที่ว่ากำลังล้อเลียนกลุ่มไอสิส โดยสาเหตุที่ทำเช่นนี้ ไม่ได้ต้องการตุกติกแต่อย่างใด เนื่องจากมีเจตนาที่จะเอาหุ่นเข้าไปในสนามให้ได้ เพื่อรักษาประเพณีในการล้อการเมือง ที่นักศึกษาสามารถวิจารณ์การเมืองได้


       นอกจากนี้ ยังมีนิสิต นักศึกษาบางกลุ่ม กางป้ายผ้า ที่ระบุข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ในแสตนด์ฝั่งตรงข้าม องคมนตรี ผู้เป็นประธานในพิธี และคณะผู้บริหารทั้งสองมหาวิทยาลัย จนถูกเจ้าหน้าที่ปลดออกในที่สุด


       อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่คงมุ่งที่จะตรวจสอบเฉพาะขบวนล้อการเมือง จนหลงลืมไปว่า บนสแตนด์เชียร์ก็มีการแปรอักษร ซึ่งปีนี้ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแปรอักษรเป็นบทกลอน มีใจความตอนหนึ่งว่า “พี่ขอปรองดอง แต่ฟังหนูมั้ย  ขอตรวจสอบ  จะฉุนทำไม ขอประชาธิปไตย  เมื่อไหร่จะคืน”

       ซึ่งในการแปรอักษรของนักศึกษาฝั่งธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ทำให้หลายคนกล่าวว่า เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาทำด้วยความกล้าหาญ ท่ามกลางการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเมื่อปี 2526
       ซึ่งล่าสุด นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า  แปรอักษรภาพประวัติศาสตร์เมื่องานฟุตบอลประเพณี ต้นปี 2526 มีการลักลอบแปรอักษรภาพปรีดี พนมยงค์ กลางสนามศุภฯ  ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงอาจารย์ปรีดีกลางที่สาธารณะ  เป็นครั้งแรกในรอบสามสิบกว่าปี หลังจากที่ท่านหนีตายจากทหาร ที่กระทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490   ตอนนั้นผมที่รับผิดชอบการแปรอักษร ได้บอกพรรคพวกชุมนุมเชียร์ว่า เราก็อยู่กันปี 4 แล้ว ขอทำอะไรให้อาจารย์ปรีดีก่อนจบการศึกษากันสักครั้งเถิด  เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน  เพราะตอนนั้นไม่มีใครกล้าพูดถึงปรีดีเลย  และเปรมยังเป็นนายกฯ

      เมื่อแปรภาพออกมา มีเสียงปรบมือทั้งสนาม ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ยืนร้องไห้ด้วยความดีใจ อาจารย์ปรีดีมีจดหมายมาขอบคุณที่ยังรำลึกถึงท่านอยู่ และไม่กี่เดือนต่อมาท่านก็เสียชีวิตในปีนั้น"

                                                                                                         ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ค้านใช้ ม.44 พร้อมระบุ ยังเฝ้าจับตาและรายงานสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยต่อเนื่อง

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับ TV24 สถานีประชาชน ในช่วงข่าวเที่ยง NewsRoom 12.00 ประจำวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  
โดยนายสุนัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนมาใช้ มาตรา44 แทนกฎอัยการศึก เพราะมีความน่ากลัวมากกว่า เนื่องจากให้อำนาจผู้ใช้อย่างกว้างขวาง ส่วนข้อเสนอจากบางฝ่ายที่ออกมา ภายหลังจากที่ทางสหรัฐอเมริกาขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น เป็นเพียงการสับขาหลอกเปลี่ยนไปใช้ชื่อกฎหมายอื่นแทนกฎอัยการศึก หรือ Martial Law แต่กลับมีความน่ากลัวมากกว่า ตนจึงไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ยังคงจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างเฝ้าระวัง และยังคงรายงานสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป
นายสุนัย ยังกล่าวอีกว่า สิทธิมนุษยชนไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ถดถอยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เห็นได้ชัดจากรายงานของ Freedom House ล่าสุด ที่จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำสุด หรือขั้น “ไม่เสรี”