วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.) แถลงการณ์1 ปี รัฐ(ประ)(ท)หารอันอัปยศ


โดยเบื้องต้น ตำรวจสน.ชนะสงครามได้แจ้งผ่านแกนนำ YPD ว่าทาง คสช. ไม่ให้จัดงาน แต่กลุ่ม YPD ยืนยันการจัดงานในวันนี้ และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คสช. ได้นำทหารกว่า 30 นาย นำกำลังเข้ามาที่มูลนิธิ 14 ตุลา แจ้งให้ปิดสำนักงาน เพื่อไม่ให้กลุ่ม YPD เข้ามาจัดงาน ต่อมาเมื่อกลุ่มนักศึกษาและ YPD เข้ามาเตรียมจัดงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย
(Young People for Social-Democracy Movement, Thailand (YPD.) )
ปี รัฐ(ประ)(ท)หารอันอัปยศ

            หนึ่งปีมาแล้วศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้านรัฐประหาร ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อแสดงจุดยืน    ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย  โดยขอเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว  เพราะการรัฐประหารเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำลายสังคมประชาธิปไตยในระยะยาว   ทั้งนี้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)และเพื่อนเครือข่ายนักศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศได้เฝ้าระวังและจับตา ติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้อำนาจของ  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทางศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) จึงขอประณามพฤติกรรมการใช้อำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา  ดังต่อไปนี้
1. แต่งตั้งทหารและบริวารพวกพ้องมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆและกระทำการโดยไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน จากข้อเท็จจริงที่มีการแต่งตั้งข้าราชการทหารจำนวนมากเป็นรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตนแต่งตั้ง มาเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีการตั้งคนในครอบครัวเป็นผู้ช่วยผู้ปฏิบัติงานด้านนิติบัญญัติทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฎิรูปแห่งชาติ  ซ้ำร้ายเหล่าผู้ปล้นอำนาจเหล่านี้ยังไม่เคยแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะชนเลยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
2.สภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหารออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน จากข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
            -กรณีร่างพระราชบัญญัติการประมง ที่ชาวประมงขนาดเล็กเสียผลประโยชน์ เนื่องการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านก็น้อยเกินไป
            -กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ ทั้งที่เครือข่ายได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ได้ออกมาคัดค้าน
            -กรณีศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ยืนหนังสือพร้อมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่
            -กรณีเครือข่ายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน 14 องค์กร เรียกร้องชะลอลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม
            -กรณีร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากเนื้อหาบางมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นต้น
  3.ลิดรอน เสรีภาพ  อิสรภาพ  การแสดงออกของประชาชน สื่อมวลชน และ ละเมิดสิทธิชุมชน ปรากฎมีการใช้คำสั่งห้ามจัดการเสวนาทางวิชาการ การพูดในที่สาธารณะมากมาย  รวมทั้งมีการใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการเรียกประชาชนไปปรับทัศนคติ ดำเนินการจับกุม และดำเนินคดีในศาลทหาร   ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่64/2557โดยอ้างการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมด้วยคำสั่งที่66/2557 ที่กล่าวว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิการทำมาหากินของชาวบ้านคนยากคนจนไปทั่วทั้งประเทศ เกิดการเข้าตัดฟันและทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านคนจน มากกว่าจะปราบปรามนายทุนซึ่งเป็นผู้บุกรุกทำลายป่าตัวจริง
4.แปรรูประบบการศึกษาอย่างน่าไม่อายโดยปรากฏข้อเท็จจริงคือ  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา  โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายท่านที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแปรรูปนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นนั่งผู้พิจารณาอยู่ด้วย
            5.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างภายใต้อำนาจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหลายมาตราในร่างที่เป็นข้อกังขา ว่าจะลดทอนอำนาจของประชาชน ยุบรวมองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน  อีกทั้งยังไม่แน่นอนว่าจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
            การขับเคลื่อนและรักษาระบอบประชาธิปไตย ยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตย สร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยนั้นแน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากคณะผู้ปกครองคณะใดคณะหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่านหนึ่ง  หากแต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน  ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ทุกกลุ่มที่ร่วมกันเข้ามาปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจของตนเอง และใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ 
            เราจะสร้างสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เลย หากขาด สิทธิเสรีภาพ อิสรภาพ ความยุติธรรม และความสมานฉันท์ ที่สำคัญพวกเราเชื่อมั่นว่า ความสงบสุขของสังคมมิได้เกิดจาก การไม่มีการต่อต้าน หากแต่ความสงบสุขของสังคมเกิดจาก ความเท่าเทียม ความยุติธรรมทั้งทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง

                                                                      เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ 
                                                       ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)
                                                                                  22 พฤษภาคม 2558


ห้ามไม่ให้จัดเสวนา สั่งปิดอนุสรณ์สถาน14ตุลา กลุ่มYPD จึงดำเนินกิจกรรมด้านหน้า






ขณะถูกควมคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม



วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทีดีอาร์ไอเสนอรัฐบาลวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ชูควรเน้นต่อยอดเป็น “เขตนวัตกรรมพิเศษ” เพื่อยกระดับการผลิตในประเทศ

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู  นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ


ประเทศไทยกำลังเดินหน้าการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เห็นชอบ โดยมีพื้นที่เป้าหมายระยะที่ 1 และ 2 ใน 10  จังหวัดชายแดน  และมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 สาขาสำหรับระยะที่ 1  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น  เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และเซรามิกส์

กิจการที่อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมากทั้งจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และหน่วยงานอื่นๆ โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ในกรณีที่เป็นกิจการเป้าหมาย ได้แก่ (1) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ ยังได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 5 ปี  (2) ได้รับอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้าและค่าประปา 2 เท่าเป็นเวลา 10 ปี (3)  ได้รับอนุญาตให้หักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกร้อยละ 25 ของเงินลงทุน (4) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร (5) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี (6) ได้รับอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ และในกรณีที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ กิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกระทรวงการคลังในการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 10 ปี  นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว กิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการกู้ดอกเบี้ยต่ำรายละไม่เกิ1-20 ล้านบาท  การใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับหรืออยู่ได้ครั้งละไม่เกิน วัน ความสะดวกที่จะได้รับจากศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนซึ่งจะพิจารณาอนุมัติภายใน 40 วันทำการ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งจะพิจารณาอนุมัติภายใน  วันทำการ และการดำเนินกิจการในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ซึ่งภาครัฐมีโครงการลงทุนในวงเงิน 10,000 ล้านบาทในปี 2558-2559 สำหรับ SEZ ระยะที่ 1

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู  นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า  การใช้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเครื่องมือในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนนั้น ตนเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดี  แต่ก็มีหลายอย่างที่ควรปรับปรุง โดยจะเห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยการให้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่คำถามคือ การมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้จริงหรือ เนื่องจาก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ถูกออกแบบอย่างมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า  จะช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้หนุนเสริมกันได้อย่างไร โดยประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านควรหารือเพื่อพัฒนาร่วมกัน

 นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ระบุว่า  สิทธิประโยชน์สูงสุดของภาครัฐที่ให้แก่กิจการเป้าหมายซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการหลุดพันจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขันโดยเน้นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวไปสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น  นอกจากนี้ การที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษถูกออกแบบมาเพื่อให้แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ ตราบใดที่นโยบายแรงงานต่างด้าวในระดับชาติยังไม่มีความชัดเจนและไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ในข้อเท็จจริง การใช้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นน่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก ถึงอย่างไร ประเทศไทยจะมีค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและการส่งออกจากประเทศไทยจะไม่ได้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ไปยังตลาดหลัก    การศึกษาของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตเครื่องนุ่งห่มในประเทศไทย ลาวและกัมพูชา พบว่า ต้นทุนการผลิตในไทยสูงกว่าลาวและกัมพูชาถึงร้อยละ 15 เนื่องจาก ต้นทุนค่าแรงในไทยสูงกว่า และไทยไม่ได้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ดังนั้น จะมีเพียงผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อขายในประเทศที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

หากประเทศไทยต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แทนที่จะใช้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลควรแปลงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้เป็น “เขตนวัตกรรมพิเศษ”(Special Innovation Zone: SIZ) โดยเน้นอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานความรู้ (knowledge-based sector) เช่น ซอฟต์แวร์ การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา  โดยต้องเน้นแรงงานมีทักษะสูงต่างชาติ เช่น โปรแกรมเมอร์ หรือนักวิชาชีพต่างชาติทำงานในไทยได้โดยง่าย แทนการใช้แรงงานทักษะต่ำจากต่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการต่อไปคือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนในฐานะเป็นประตู (gateway) สู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนน และการปรับปรุงด่านชายแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจำนวนมากได้ โดยแยกกันชัดเจนระหว่างด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านตรวจสินค้า และการสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ตลอดจน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมบริการทางการค้าชายแดนที่สำคัญ ด้วยการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูง  และการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีสินค้าเป็นศูนย์ของประเทศเพื่อนบ้านภายในปี 2561 จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นเพียงเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางนโยบาย ดังนั้น ลำพังการมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่สามารถทดแทนการมีนโยบายอุตสาหกรรมและนโยบายแรงงานที่ดีเพื่อทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้   การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน หากไม่ได้ออกแบบโดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน   ที่สำคัญ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เนื่องจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยติดอยู่กับการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ  สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การส่งเสริมให้ย้ายการผลิตที่ใช้แรงงานมากไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า และยกระดับการผลิตในไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการสร้างเขตนวัตกรรมพิเศษ (SIZ) ที่เน้นการเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง 

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยี่ยมหลานสาวฝาแฝด เอมิ-นานิ ด้านพันตำรวจโททักษิณ face time ร่วมวงสนทนา ก่อนปาฐกถาพรุ่งนี้



นี่เป็นภาพของ ครอบครัวชินวัตร ที่ส่งกำลังใจให้แก่กันและกันในวันนี้ โดยนางสาวพินทองทา คุณากรวงศ์ ได้โพสต์อินสตาแกรม เป็นภาพใบหน้าพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังสนทนาผ่านระบบ face time หรือการคุยโทรศัพท์แบบเห็นหน้า กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งกำลังอุ้มหลานสาวฝาแฝด น้องเอมิ-นานิ ร่วมในวงสนทนา ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มกันทุกคน

โดยนางสาวพินทองทา ระบุว่า วันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ หรือ ยายปู มาเยี่ยมหลานๆที่บ้าน จากนั้น ได้ถ่ายรูปและส่งไปให้พันตำรวจโททักษิณดู แล้วคุณตาทักษิณก็รีบ facetime กลับมา ขอมีส่วนร่วมด้วย พร้อมกันนี้ นางสาวพินทองทา ได้ให้กำลังใจอดีตนายกทักษิณ ที่จะขึ้นกล่าวปาฐกถาที่ประเทศเกาหลีใต้ในวันพรุ่งนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีประชาชนจำนวนมาก คอมเม้นท์ให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่าน และทุกคนในครอบครัวชินวัตรด้วยเช่นกัน 

ซึ่งภายหลังจากการปาฐกถาของพันตำรวจโททักษิณ ครอบครัวชินวัตร  ก็จะเดินทางไปที่เกาหลีใต้ เพื่อพาหลานสาวฝาแฝดทั้ง 2  ไปพบกับคุณตาเป็นครั้งแรก







วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรรมการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ต่างยืนยันเจตนารมณ์วีรชนพฤษภา 35 ที่ต่อสู้เพื่อให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง พร้อมฝากถึงแม่น้ำ 5 สายรับฟังความเห็นต่าง อย่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะซ้ำรอยการนองเลือดเมื่อ 23 ปีที่แล้ว




ภาพโดย คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์

มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย  จัดสหปาฐกถารำลึก 23 ปีพฤษภาประชาธิปไตย 2535 ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา โดย นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ อดีตประธานและกรรมการก่อตั้งมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย  ได้เล่าถึงที่มาของเหตุการณ์พฤษภา 2535  ทั้งจากการรัฐประหารและยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ จนนำสู่การลุกฮือของประชาชนและเกิดโศกนาฏกรรมทางการเมือง และหลังเหตุการณ์ได้ทำให้ทหารหรือกองทัพ  มีความเป็นทหารอาชีพไม่เข้ามาแทรกแซงการเมืองเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ก่อนที่จะมีรัฐประหารปี 2549 

ขณะที่นางประทีป   อึ้งทรงธรรม ฮาตะ กรรมการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย กล่าวว่า  เมื่อ 23 ปีที่แล้วชนชั้นนำผูกขาดการร่างรัฐธรรมนูญและยังสืบทอดอำนาจ ประชาชนไม่ได้มีส่วนทางการเมือง  พร้อมกล่าวเชิดชูวีรกรรมของเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส.หลายสมัย  เจ้าของฉายา จอม-อด ที่เป็นจุดเริ่มและการยืนหยัดต่อสู้ด้วยสันติวิธีโดยการอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันแรกที่พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่ง  

ด้านเรืออากาศตรี ฉลาด ระบุว่า ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างโดดเดี่ยวในระบบรัฐสภาตั้งแต่เป็น ส.ส. เพราะสมัยก่อนไม่มี ส.ส.ที่กล้ายืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย  ที่ผ่านมาได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับหัวหน้าและคณะรัฐประหารหลายชุดในข้อหากบฏ เพื่อเป็นแบบอย่างและมาตรฐานทางสังคม พร้อมย้ำว่า ประชาชนไม่ได้พ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  แม้จะสูญเสียจำนวนมาก และการร่างรัฐธรรมนูญเกือบทุกครั้งไม่ได้มีส่วนร่วมก็ตาม  โดยเห็นว่าคณะผู้เข้าสู่อำนาจโดยวิธีการนอกระบบนั้น  จะอยู่ในอำนาจไม่ได้นาน เนื่องจากไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ 

ส่วนนายแพทย์เหวง  โตจิราการ กรรมการก่อตั้งมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย  ย้ำถึงอุดมการณ์เดือนพฤษภา 35 คือต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง สะท้อนจากรูปแบบสำคัญคือ ต่อสู้ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.รวมถึงประธานรัฐสภาต้องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร  ดังนั้นทุกคนทุกฝ่ายที่ได้ทิ้งหลักการดังกล่าว  ไม่เพียงเหยียบย่ำวีรชนที่เสียชีวิตไปเท่านั้น แต่ได้ทำลายเจตนารมณ์การต่อสู้ของประชาชนเมื่อ 23 ปีที่แล้วด้วย   โดยยืนยันว่าต้องใช้สันติวิธีในการสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตย โดยสันติวิธี /เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด 
พร้อมฝากถึงแม่น้ำ 5 สาย ที่กำลังขับเคลื่อนประเทศขณะนี้  ให้พิจารณาความเห็นต่างจากทุกภาคส่วน  ไม่ควรเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบหรือมีนายกคนนอก ที่จะซ้ำรอยและเป็นสาเหตุของการนองเลือดเมื่อ 23 ปีที่แล้ว 


ภาพโดย คุณเทวฤทธิ์ มณีฉาย

ขณะที่กิจกรรมในส่วนสหปาฐกถากำลังจะสิ้นสุด  เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 หรือ บก.น.1  ได้เข้ามาสั่งระงับกิจกรรมโดยอ้างว่า การจัดงานไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ  แต่ก็ผ่อนปรนให้กิจกรรมสหปาฐกถาดำเนินไปจนเสร็จสิ้น จากนั้นคณะผู้จัดและผู้ร่วมงาน ได้เดินทางไปวางพวงหรีดและอ่านกวีรำลึกวีรชน ที่ประติมากรรมเหตุการณ์พฤษภา 35 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตามกำหนดการ
ภาพโดย คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์

ภาพโดย คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์

ภาพโดย คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์

ภาพโดย คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์


วิศรุต บุญญา TV24 สถานีประชาชน รายงาน

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางถึงกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมแวะไหว้พระ ก่อนร่วมปาฐกถาCEO ระดับโลกที่เกาหลีใต้ และรอรับขวัญหลานฝาแฝด






(17 พ.ค. 58) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย  พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปสักการะพระ ที่วัดย่านอากาซากะ-รปปงหงิ ข้างโรงแรม เดอะ แคพปิตอล โฮเต็ล โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพระราชวังหลวงโตเกียว  และอาคารรัฐสภาไดเอทแห่งชาติ

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เดินทางไปที่ญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตัวกล่าวปาฐกถา ในฐานะอดีตผู้นำของประเทศและผู้นำของเอเชียที่เกาหลีใต้ ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำคนเดียวของไทยที่ถูกรับเชิญไปในงานดังกล่าว





ขณะเดียวกัน คุณพินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์อินสตราแกรมส่วนตัว ระบุว่า เมื่อวานได้มีโอกาสพาลูกๆไปทำบุญถวายสังฆทานและปล่อยปลา และได้นั่งสมาธิ ที่นำโดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ล่วงหน้า วันเกิดคุณพ่อของน้อง เอมิ-นานิ


นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพบุคคลสำคัญในตระกูลชินวัตร ตระกูลดามาพงศ์ และตระกูลคุณากรวงศ์  เช่น คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร  นายบรรพต ดามาพงศ์  และนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ได้พาหลานสาวฝาแฝดมาทำบุญร่วมกัน

ก่อนที่น้อง เอมิ และ นานิ ซึ่งขณะนี้อายุครบ 5 เดือน จะได้เดินทางไปพบกับคุณตาทักษิณ ภายหลังการปาฐกถาที่เกาหลีใต้  ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างคุณตากับหลานสาวฝาแฝด

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"ยิ่งลักษณ์" ร่วมอวยพรวันเกิด "เยาวภา" ยืนยัน เดินทางไปศาลด้วยตัวเอง 19 พ.ค.นี้ ส่วนคดีจ่ายเงินเยียวยาเสื้อแดงให้เป็นไปตามกระบวนการ ขณะที่ "สมชาย" ชี้ ร่าง รธน.ยังไม่สมบูรณ์ แนะฟังเสียงประชาชน




วันนี้ เวลา 09.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาอวยพรวันเกิดครบรอบ 60 ปี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยมีอดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ,​ นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย  ฯลฯ เดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง  โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ร่วมรับประทานอาหาร และร่วมปล่อยนกกระจาบทอง และนกกระจาบน้ำตาลรวมกว่า 1,500 ตัว

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ โดยยืนยันว่าจะเดินทางไปตามนัดสอบคำกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 19 พ.ค. ด้วยตนเอง และพร้อมที่จะชี้แจงตามกระบวนการยุติธรรม กรณีที่อนุกรรการไต่สวนป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีเยียวผู้ชุมนุมปี 2548-53 ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน ตนยังไม่ขอพูดถึงรายละในเวลานี้เพราะวันนี้เป็นวันมงคล

ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันเกิดปีนี้ตนได้ให้กำลังใจนางเยาวภาเพราะอายุมากขึ้น จึงอยากให้ดูแลสุขภาพเป็นกำลังให้ลูกๆ ทุกคน ส่วนเรื่องการเมืองนั้นนางเยาวภาไม่ทำงานการเมืองอยู่แล้ว ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ตนได้ติดตามจากสื่อมวลชนมาตลอดโดยเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีย่อมทำให้ประชาชนไม่มีความสุขเท่าไหร่ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยประชาชนโดยเฉพาะชาวนา โดยอยากให้ดูทุกเรื่องทั้งเรื่องราคาข้าว และเรื่องน้ำในการเพาะปลูกทั้งนี้ตนไม่สามารถบอกได้บอกได้หรอกว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหามาถูกทางแล้วหรือไม่ เพราะทุกคนมีแนวทางของตัวเอง จึงต้องดูที่ผลก็แล้วกันจะทางไหนก็แล้วแต่ขอให้เป็นทางที่ประชาชนมีความสุขไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คงต้องต่อแขนต่อขากันอีกสักหน่อย เท่าที่ติดตามผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถหลายคนจึงอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักสากลที่ต่างประเทศรับได้ ประชาชนรับได้ แต่เท่าที่ติดตามข่าวเห็นว่ามีคำท้วงติงจากสื่อ ประชาชน นักวิชาการ และนักการเมืองหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ถ้าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยยังไงก็ต้องไม่พ้นเรื่องที่ประชาชนได้ตัดสินใจได้เลือกด้วยตัวของเขาเอง เป็นที่น่ายินดีที่หลายฝ่ายจะได้มีการแก้ไขปรับปรุง เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ถ้าผู้ใหญ่รับฟังและปรับปรุงก็เป็นเรื่องที่น่าพอใจส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ

ส่วนจะทำประชามติใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ครั้งนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน การทำประชามติจึงเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งต้องไปดูแนวทางอีกครั้งว่าหากทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป จะเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่รับฟังความเห็นนประชาชน แต่จะดีกว่านั้นถ้าทำให้เบ็ดเสร็จโดยถามประชาชนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ทำอย่างไร

นายสมชายกล่าวถึงการสู้คดีสลายการชุมนุม 2551 นายสมชายกล่าวว่า คนที่ถูกฟ้องไม่ได้สบายใจแต่ไม่ได้วิตกกังวลอะไรนักเพราะสิ่งที่ทำไปนั้นทำไปโดยรอบคอบ ทั้งศาลปกครองก็เคยวินิจฉัยแล้วว่าจะไม่ฟ้องคดีนี้ และที่ประชุมร่วมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กับอัยการสูงสุด (ออส.) ได้มีความเห็นว่าฟ้องไม่ได้ แต่ตนคงพูดอะไรมากไม่ได้เพราะเรื่องอยู่ในขั้นตอนนของศาลจึงต้องต่อสู้กันไปตามกระบวนการ














วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กำหนดการ งานรำลึกพฤษภาประชาธิปไตย 17 พ.ค. 2558



วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2558  เวลา 13.00 น. –  16.00 น. ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา. (ตึกหลัง)

12.30 น. – 13.00 น.     –ลงทะเบียน แขกผู้ร่วมงาน

13.00 น. – 13.30 น.     – ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ผศ.ดร.อนุสรณ์  ธรรมใจ กล่าวต้อนรับและ                                            เปิดงาน

13.30 น. – 15.30 น.     – สหปาฐกถารำลึกพฤษภา ประชาธิปไตย โดย
                                     -เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราดและกทม
                                     -นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์
                                     -นายแพทย์เหวง  โตจิราการ
                                     -ครูประทีป   อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

15.30 น. -16.00 น.     – บทกวี ดนตรีเพื่อประชาธิปไตย

**หมายเหตุ** ได้ทำจม.ขอวางหรีดที่ประติมากรรมเหตุการณ์พฤษภา35 ระหว่างเวลา 16.00-17.30 น.   หน้าหอใหญ่ มธ.ท่าพระจันทร์ ส่งให้ อ.ปริญญา แล้ว / กรณีถูกห้ามใช้ที่อนุสาวรีย์ ปชต. และที่อื่นๆ

“การสืบทอดอำนาจ มักนำไปสู่ความขัดแย้ง” บทเรียนรัฐประหารประเทศบุรุนดิ โดย พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์

   



       หลังจากที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบูจุมบูรา ประเทศบุรุนดี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ว่าพล.ต.โกเดโฟรด์ ไนยอมบาเร อดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของบุรุนดี แถลงผ่านสถานีวิทยุเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันพุธ ประกาศการรัฐประหารในประเทศ เพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นกูรุนซิซา ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับภูมิภาคในแทนซาเนีย หลังดึงดันลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 จนทำให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านอย่างหนักนานหลายสัปดาห์

       ผศ.ดร.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตามข่าวการรัฐประหารในบุรุนดิอย่างใกล้ชิด ได้อัพเดทสถานะผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัวเป็นระยะ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลประกอบอย่างน่าสนใจ ดังนี้



บทเรียนจากบารุนดิ: การอยู่นาน หรือ การรัฐประหารซ้อน?
---
จะพยายามอัพเดทข่าวจาบารุนดินะครับ เพราะสื่อมวลชนไทยก็ไม่ได้ทำหน้าที่มากไปกว่าผมเท่าไหร่ เพราะก็ต้องแปลข่าวเขามาอีกที
---
สถานการณ์ล่าสุดเมื่อชั่วโมงที่แล้วอัลจาซีร่าลงข่าวที่ต่างจากของบีบีซีเมื่อหลายชั่วโมงก่อน และข่าวจาก NPR ตรงที่ว่า สถานการณ์นั้นยังคลุมเครืออยู่
ประการแรก การรัฐประหารสำเร็จไหม
ประการที่สอง สถานการณ์ทั่วไปเป้นอย่างไร
---
เริ่มจากภาพรวมนะครับ คือ ประธานาธิบดี ปิแอร์ นูรันซีซ่า ประธานาธิบดีกำลังจะละเมิดกฏหมายที่จะลงเลือกตั้งครั้งที่สาม ก็เลยเกิดการลุกฮือของประชาชน ทีนี้ในช่วงเดียวกันสบจังหวะที่ประนาธิบดีได้รับเชิญไปประชุมระดับภูมิภาคในประเทศเพื่อนบ้าน ทีนี้จากข่าวหลายสายก็มีการปราบปรามประชาชนโดยตำรวจ ในช่วงการชุมนุม (NPR)
---
พลเอก นิโยมแบล อดีตนายทหารด้านข่าวกรองที่เพิ่งถูก ปธน ปลดไป ได้แถลงยึดอำนาจจากค่ายทหารพร้อมทั้งการสนับสนุนจากคณะทหาร ภาพรวมที่ NPR วิเคราะห์เมื่อบ่ายคือ ทหารเล่นบทปกป้องสันติภาพและความรุนแรง และอ้างว่าประธานาธิบดีไม่เคารพกฏบัตรในประเทศและไม่ฟังคำแนะนำของประชาคมโลกที่ปรามไม่ให้ประธานาธิบดีลงเลือกตั้งเป้นสมัยที่สาม
---
สถานการณ์ตอนนี้ยังอึมครึม เพราะห้ามออกจากบ้าน และนักข่าวก็ยังไม่ได้ข่าวยืนยันจากทุกฝ่าย เพราะทางประธานาธิบดีนั้นอ้างว่าจะกลับเข้าประเทศ
---
pattern ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ฝ่ายค้านออกมาประกาศสนับสนุนฝ่ายทหารให้ทำรัฐประหารซะ
---
ทำไมข่าวนี้น่าสนใจ - เท่าที่สำรวจข่าวต่างประเทศ เรื่องใหญ่ในอาฟริกาตะวันออกเป็นเรื่องของความรุนแรงทางเชื้อชาติ ประเทศจำนวนมากที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองเพราะมีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ-เผ่าอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการเมืองในยุค-หลังยุคอาณานิคมที่เกิดประเทศจากการลากเส้นของมหาอำนาจอาณานิคม และผู้ปกครองก็ได้ฐานสนับสนุนจากเผ่าที่ต่างกัน แม้ว่ากรณีนี้จะไม่รุนแรงมากในในบารุนดี
---
ลุ้นต่อไปครับผม ... ที่ผมมองว่าเรื่องนี้น่าสนใจเพราะเงื่อนไขของการอยู่ยาว หรือสืบทอดอำนาจมักนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่เที่ยวนี้มีอ้างประเด็นประชาคมนานาชาติ และบทบาทของฝ่ายค้านด้วย เงื่อนไขหลายข้อเริ่มกลายเป็นสูตรที่ขึ้นกับผู้ประกอบสร้างเรื่องราวเหล่านี้แล้วครับ ‪#‎เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน‬
http://www.aljazeera.com/news/2015/05/150513111503297.html


สงครามสื่อท่ามกลางรัฐประหารในบารุนดิ 

เพิ่มเติมจากที่โพสต์ไปแล้ว ข่าวจากรอยเตอร์ เรื่องราวซับซ้อนก็เพราะว่าฝ่ายทหารนั้นประกาศว่าปธน ขัดรัฐธรรมนูญ ที่จะลงเลือกตั้งรอบสาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเข้าข้างประธานาธิบดีในทางเทคนิค (อ้างว่ารอบแรกนั้นมาจากสภาเลือก)
---
ฝ่ายทหารประกาศยึดอำนาจด้ววิทยุ ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้ด้วยการลงเฟซบุค
---
นักวิเคราะห์มองว่า ทหารอาจไม่มีเอกภาพพอในการทำรัฐประหาร หรือสืบสานอำนาจต่อไป เพราะว่า กองทัพตอนนี้มีส่วนผสมทั้งเผ่าฮูตู และ ทุซี่ ถและเป็นตัวแบบที่ดีของการปรองดองของสองเผ่าที่ผสมกัน ดังนั้นถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของดุลย์ทหารเองก็อาจจะไม่สามารถประคองสถานการณ์ได้
---
ดังนั้นเวลาวิเคราะห์รัฐประหาร ต้องไม่ลืมดูด้วยว่าบางทีความขัดแย้งอาจเป้นเรื่องดุลย์กำลังในหมู่ทหารด้วย ไม่ใช่มองแค่ว่าทหารคนไหนเห็นใจประชาชนกว่ากัน ... หุหุ
http://www.huffingtonpost.com/…/burundi-coup-nkurunziza_n_7…

บุรุนดิ - ข้อมูลเบื้องต้น
---
บางเรื่องน่าสนใจ เก็บมาให้อ่านกันเร็วๆ บุรุนดิ เป้นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอาฟริกา ไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่มีทะเลสาบใหญ่ บุรุนดิ เคยเป็นอาณานิคมของเยอรมัน ต่อมาตกเป็นของเบลเยี่ยม ภูมิศาสตร์รายล้อมด้วยประเทศที่เราเคยได้ยินในทางยากจนและวุ่นวายทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นราวันด้า คองโก้ แทนซาเนีย
---
สงครามกลางเมืองเป็นหนึ่งในปัญหาของบุรุนดิ ไม่ได้ต่างจากราวันด้ามากนัก เมื่อแรกเริ่มได้ประชาธิปไตย 1993 เผ่าฮูตูได้ชัยชนะ เผ่าทุดซี่ก้อลอบสังหาร จากนั้นก้อตายกันไปสามแสน คนที่สองที่เลือกเข้ามาเป็นฮูตูอีก แต่เครื่องบินตกพร้อมผู้นำราวันด้า ผู้คนอพยพหนีไปราวันด้า รัฐบาลผสมไม่มีเสถียรภาพ ทุดซี่ถอนตัวจากรัฐบาลที่ฮูตูนำ
---
1996 รัฐประหารจากนายพลชาวทุดซี่ เจรจากัน 4 ปี มีอาฟริกาใต้ และ แทนซาเนียมาช่วยเจรจา รวมทั้งยูเอ็น ได้ข้อตกลงปรองดองอลุสซ่า เริ่มมีการเลือกตั้ง ภาพรวมของประเทศคอ ฮูตูมีเยอะกว่าทุดซี่ แล้วตอนนั้นฮูตูเป็นฝ่ายกบถ การเลือกตั้งหลังจากนั้นสองครั้งฮูตูได้อำนาจ แต่ก็มีโครงสร้างแบ่งอำนาจให้ทุดซี่ด้วย นี่คือส่วนหนึ่งของความปรองดอง ซึ่งรวมไปถึงโครงสร้างของกองทัพเองด้วย
---
ประมาณนี้ก่อนครับ จะได้พอเห็นภาพกัน
http://en.wikipedia.org/wiki/Burundi


รัฐประหารที่บูรุนดิ - งานนี้ไม่ค่อยหมู
---
ข่าวอัพเดทเมื่อชั่วโมงที่แล้วครับ ว่าตัวประธานาธิบดียังเข้าประเทศไม่ได้ เพราะฝ่ายทำรัฐประหารปิดสนามบินไม่ให้เข้า แต่ใช่ว่าจะง่าย เพราะตัวผู้นำรัฐประหารเป็นอดีตลูกน้องของประธานาธิบดีเอง ที่ "แตกคอ" กัน เพราะว่าไปขัดไม่ให้ลูกพี่พยายามจะสืบทอดอำนาจตัวเองเป้นรอบที่สาม
---
นี่คือตัวอย่างของการเมืองอาฟริกาที่มีลักษณะของการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของบุรุนดินั้นคือการสร้างความปรองดองหลังจากสงครามกลางเมือง 12 ปี ทีทำให้ต้องแบ่งปันอำนาจกันของสองเผ่า แต่เหมือนว่า ฮูตูจะเป็นเสียงข้างมาก ที่เลือกตั้งยังไงก้อชนะ ส่วนทุดซี่นั้นรัฐประหารมาก่อน อย่างปธนคนนี้ที่พยายามสืบทอดอำนาจนั้นก็เป็นฮูตู (และเป้นอดีตหัวหน้ากบถในยุคที่ทุกซี่ครองอำนาจ) แถมหัวหน้่าคณะรัฐประหารก็เป็นฮูตูเช่นกัน แต่กำลังทุดซี่ก้อยังไม่ขยับ และเดิมนั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุให้กองทัพมีกำลังของสองเชื้อชาติเท่ากัน กองทัพจึงดำรงความเป้นกลาง นั่นหมายความว่าตอนนี้กองทัพส่วนหนึ่งยังคุมทำเนียบและสถานนีวิทยุไว้ได้ แม้ว่าจะตอบโต้กันไปมา
---
ปธน ตอนนี้บินไปตั้งหลักที่แทนซาเนีย และยังหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนฝูงรอบบ้าน ส่วนยูเอสและยูเอ็นก็มาแบบว่าอย่าทะเลาะกัน ยังไม่ได้เข้าข้างใคร
---
อีกบทเรียนท่น่าสนใจก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์อิสระนี่ บางทีก้อตัดสินไปแล้วไม่ได้สามารถจัดการให้สังคมสงบได้หรอกครับ ดังนั้นประเด็นไม่ใช่ว่าจะเข้าข้างใครหรือถูกซื้อเท่านั้น แต่ต้องถามด้วยว่าตัวเองนั้นตัดสินอะไรไปแล้วไปเติมเชื้อไฟให้ปะทะและปะทุขึ้นมาไหม เพราะจะว่าไปแล้ว การเมืองนั้นไม่มีสถาบันใดที่ตัดสินอะไรแล้วไม่ส่งผลกระทบไปที่สถาบันอื่นๆหรอกครับ เพราะระบอบการเมืองหนึ่งๆมันประกอบด้วยหลายสถาบัน อย่างงานนนี้ไปตัดสินแล้วปธนได้เปรียบ แต่ชาวบ้านเขาลุกฮือแบบนี้ก็ยุ่งไปอีกแบบครับ‪ #‎ถนนยังลูกรังของจริงครับผม‬
http://www.bbc.com/news/world-africa-32731554



วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นำคณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์อธิษฐานจิตเพื่อชาวเนปาล

       วันที่ 12 พ.ค. 2558 เวลา 16.00 น. วัดปากน้ำภาษีเจริญ จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์อธิษฐานจิต เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขแห่งประชาชนชาวเนปาล โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน มีคณะสงฆ์จาก 2 นิกายในประเทศไทยร่วมสวดมนต์ ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ชั้น 2 ซึ่งสาธุชนร่วมพิธีจำนวนมาก

       At 4:00 p.m. on Tuesday May 12th, 2015Watpaknam in Bhasicharoen District arranges the Ceremonies of Chanting the Buddha’s Mantra and Making Wishes for Nepalese’s peacefulness on the 2nd Floor of Maha Ratchamongkol Maha Cetiya, Watpaknam, Bhasicharoen District, Bangkok.