วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

เลขาธิการ นปช. โพสต์เฟซบุ๊ค หลังถูกปรับทัศนคติ ยืนยัน การแสดงความเห็นเป็นสิทธิ์และพร้อมรับผิดชอบ ขณะที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ ระบุ อยากเสียพนัน หลังผู้แทนกองทัพ ท้าพนันอีก 3 เดือนเศรษฐกิจดีแน่

        นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังถูกเชิญตัวเข้าไปปรับทัศนคติที่กองทัพภาคที่ 1  โดยได้ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง พร้อมระบุว่า ผู้แทนกองทัพขอความร่วมมือไม่ให้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ที่จะไปกระทบการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ใช่การบังคับหรือข่มขู่และไม่ต้องการควบคุมตัว โดยผมได้ชี้แจงว่า อยากให้ผู้แทนทหาร ได้กลับไปอ่านที่ผมคอมเม้นท์ทั้งหมดที่ผ่านมา ว่าผมมีเจตนาอยากเห็นประเทศก้าวไปได้ โดยอยากให้นำมาพิจารณา และสิ่งที่ผมคาดประมาณว่า เศรษฐกิจจะแย่ก็แย่จริงๆ  ผมจะไปพูดให้เศรษฐกิจแย่ก็คงไม่ได้ และอยากให้เปลี่ยนวิธีการคิด มิเช่นนั้นเศรษฐกิจอาจจะแย่กว่านี้ ในส่วนที่ท่านนายกกล่าวถึงว่าที่ผมวิจารณ์เรื่องพลังงาน ทำไมอยู่ในตำแหน่งไม่ทำนั้น ผมได้ชี้แจงว่า ถ้าหากได้ติดตามที่ผมให้ความเห็น ผมบอกชัดเจนว่าผมเห็นด้วยกับรัฐบาลในแนวทางการปรับราคาพลังงานของรัฐบาล  เพราะมีการสนับสนุนราคาก๊าซมาเป็นสิบปีแล้ว หากจำกันได้ในสมัยที่ผมอยู่ในตำแหน่ง ก็เริ่มดำเนินการลอยตัวราคาก๊าซ จนมีผู้ประท้วงปิดถนนวิภาดีกัน เพราะเป็นเรื่องจำเป็นกับประเทศจริงๆ ส่วนความเห็นที่ให้เพิ่มเติม ก็เนื่องจากภาวะการณ์ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันได้ลดต่ำลงมามาก ไม่เหมือนในสมัยผมที่ราคาน้ำมันบาเรล ละกว่า 100 เหรียญ แต่อย่างไรก็ตามผมยินดีให้ความร่วมมือ และจะไม่ออกความเห็นให้กระทบกับรัฐบาลอีก ถ้าเห็นว่าความเห็นผมไม่เกิดประโยชน์

       นายพิชัย ระบุอีกว่า ผมเข้าไปถึงกองทัพภาคที่ 1 เวลา 10 โมงกว่า กลับออกมาประมาณเที่ยงกว่า การสนทนาเป็นไปด้วยดี สุภาพ และตรงประเด็น โดยผู้แทนกองทัพยังพนันกับผมว่า เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนหน้านี้จะดีแน่นอน ผมเองอยากจะเสียพนัน เพราะประชาชนจะได้มีความสุข


       ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า

       เจ้าหน้าที่นัดผมไปคุยที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ การสนทนาเป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรี ไม่มีข่มขู่บีบบังคับ

       สาระโดยสรุปคือ อธิบายเหตุผลการยึดอำนาจ ความมุ่งหมายของ คสช.
และขอให้งดแสดงความเห็นทางการเมือง พร้อมแจ้งมาตรการต่อไปหากเห็นว่าไม่ให้ความร่วมมือ

       นายณัฐวุฒิจึงกล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือ ไม่มีเคลื่อนไหวเผชิญหน้า  แต่เรื่องการแสดงความเห็น ผมคิดว่าเป็นสิทธิ์และพร้อมรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น  ขอให้เข้าใจว่าทุกอย่างที่พูดเพราะผมคิดและเชื่อเช่นนั้น ด้วยความหวังดีต่อบ้านเมือง ไม่มีเป้าหมายอื่น


สุดท้ายก็จบตรงที่ตัวแทนกองทัพกล่าวว่า   "ก็แล้วแต่น้อง" ถือว่าเราได้พูดคุยกันแล้ว นายณัฐวุฒิจึงตอบว่า หากวันข้างหน้ามีเหตุต้องเรียกผมมา หรือดำเนินการอย่างไรกับผมอีก ขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ผมเล่นแง่หรือไม่ไว้หน้าคณะที่พูดคุยกัน แต่ผมเป็นผมแบบนี้จริงๆ

                                                                                               ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

เตือน!ระวังข่าวลือ ยุแดงชุมนุมวันที่ 1 และ 8 กุมภาฯ

       ภายหลังจากที่ในสังคมออนไลน์ มีการแชร์ภาพปลุกระดมให้ประชาชนใส่เสื้อสีแดง ไปรวมตัวกันที่สวนเบญจสิริ ในวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ และที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์นั้น ล่าสุด มีการส่งต่อข้อความจากบุคคลสำคัญของฝั่งคนเสื้อแดง โดยระบุว่า การนัดหมายดังกล่าวเป็นเรื่องเท็จ ดังนี้




ด่วน!!! ช่วยกันแชร์!
#ระวังข้อความioจากทหารและสลิ่ม

-----------------------
จากที่มีข้อความทางไลน์และ FB
ว่าจะมีการจัดระดมพล คนเสื้อแดง

ผ่านข้อความ/และภาพ

โดยกำหนดสถานที่จัดงาน,วันที่จัดงาน

- สวนเบญจสิริ ในวันอาทิตย์นี้ (1 กพ.)
และ
- สี่แยกราชประสงค์ ในวันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์

ได้สอบถามไปยังแกนนำทุกกลุ่มแล้ว
#ไม่มีมติออกไป ณ วัน เวลา ดังกล่าว

ขอให้คนเสื้อแดง อยู่ในที่ตั้งอย่างอดทน!
อย่าหลงเชื่อ ข่าวลือใดๆ
อย่าตกเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวลือ


เรามีเราเท่านั้น!!


                                                                           

                                                                                      ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

อดีตทูตเตือนสติรัฐบาลทหารอย่าให้ไทยเป็นแกะดำในสังคมโลก ด้านนักวิชาการสวน พล.อ.ธนะศักดิ์ ถ้าสหรัฐเป็นแบบไทยคนในกองทัพอาจถูกปลด

ปุจฉา&วิสัชนา: วิธีแก้ม็อบอนาธิปไตยและรัฐกระด้างกระเดื่องแบบเมกา
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

พลเอกธนะศักดิ์: ถ้าสหรัฐอเมริกาเป็นแบบประเทศไทย จะทำอย่างไร?

รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบ
“ในฐานะที่เคยติดตามศึกษาการเมืองสหรัฐอเมริกามาบ้างนะครับ คาดว่ารัฐบาลอเมริกันคงใช้ตำรวจและ National Guards ออกมารักษาความสงบ ไม่ให้ม็อบไม่ว่าสีไหนกลุ่มใดยึดสถานที่่ราชการ ปิดถนน ปิดกรุงวอชิงตันดีซี ยึดหีบบัตรเลือกตั้ง ส่งกองกำลังมือปืนป๊อปคอร์นออกมาเที่ยวไล่ยิงชาวบ้าน และกดดันให้สภาซีเนตแต่งตั้งผู้นำฝ่ายบริหารแทนกระบวนการเลือกตั้งปกติ อันเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญกลางเมืองอย่างอุกอาจ

และหากเจ้าหน้าที่หรือผู้บัญชาการตำรวจและ National Guards คนใดกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล ก็คงถูกปลดน่ะครับ

แต่ไม่เป็นไรนะครับ กองทัพไทยไม่ต้องทำแบบนั้นก็ได้ เพราะเรามีลักษณะความเป็นไทยของเรา อิ ๆ


ด้าน ดร.พิทยา พุกกะมาน อดีตเอกอัคราชทูต เตือนสติรัฐบาลทหารอย่าให้ไทยเป็นแกะดำในสังคมโลก สหรัฐฯไม่ยอมรับเพราะไทยมีการทำลายประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขวางเลือกตั้ง

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

งานเปิดตัวหนังสือ "บันทึกประเทศไทย 2557" พร้อมเสวนา “อ่านบทเรียน เขียนอนาคตประเทศไทย” 29 มกราคม 2558 ณ มติชนอคาเดมี เวลา 13.00-16.30 น.









หนังสือบันทึกประเทศไทย กับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันข้างหน้า

ความสำคัญของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรามากที่สุดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสารด้านธุรกิจ ที่ต้องคอยติดตาม เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ ในการดำเนินธุรกิจ หรือ ชาวบ้านทั่วไปจะได้เตรียมพร้อมในการรับมือ

แต่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่มีแต่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว ยังมีข้อมูลอื่นๆ อีกหลายด้าน ที่จะเป็นบทเรียนสำหรับในการวางแผนในอนาคต

มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปคือ ข่าวสารในวันนี้ คือ หลักฐานประวัติศาสตร์ในวันข้างหน้า ที่ สะท้อนครอบคลุมทุกมิติ

ดังกรณีเช่น บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์ ได้ทำเอาไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 4

เฉกเช่นเดียวกับที่ ทาง สนพ.มติชน ศูนย์ข้อมูลมติชน และหนังสือพิมพ์มติชน ได้ทำหนังสือ บันทึกประเทศไทย ที่ ประมวลข่าวสารต่างๆ ในปีนั้นๆ ออกมา
จะว่าไปแล้ว ก็คือ จดหมายเหตุดีๆ นี่เอง แต่ตอนนี้เราอาจะมองข้ามไป

ในวันข้างหน้า หนังสือเหล่านี้จะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ใช้ศึกษา ประวัติศาสตร์ในช่วง พ.ศ.2551-2557 ที่นอกเหนือไปจากฐานข้อมูลข่าวสารทางอิเล็คทรอนิคส์

ดังนั้นจึงอยากเชิญทุกท่านร่วมงานเสวนา “อ่านบทเรียน เขียนอนาคตประเทศไทย”
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล อัครพงษ์ ค่ำคูณ แบงค์ งามอรุณโชติ ดำเนินรายการโดย ใบตองแห้ง

ที่จะวิเคราะความสำคัญของข้อมูล ข่าว และเหตุการณ์ ที่มีผลต่อทุกคน ทุกวงการ และทั้งโลก

ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2558
ณ มติชนอคาเดมี เวลา 13.00-16.30 น.

เข้าฟังฟรีครับ ลงทะเบียนได้ที่ 02 580 0021 ต่อ 1205, 1235 และ 1242

วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐย้ำ สหรัฐกังวลประชาชนไทยไม่มีเสรีภาพ ชี้ถอดถอน-ยัดอาญายิ่งลักษณ์ ทำนานาชาติไม่เชื่อมั่น



นายแดเนียล อาร์ รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในการบรรยายสาธารณะ ซึ่งจัดโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังพบปะกับตัวแทนกลุ่มการเมืองของไทยทุกฝ่ายในวันนี้ว่า สหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้ยืนอยู่ข้างกลุ่มการเมืองฝ่ายใดเป็นพิเศษ แต่มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ประสบัญหาจากการรัฐประหาร

จากการพบปะผู้แทนกลุ่มการเมืองของไทยทุกฝ่าย ซึ่งได้แก่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายรัสเซลระบุว่า ทุกฝ่ายพูดถึงความสำคัญของการปรองดองและการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งสหรัฐได้แสดงความกังวลต่อทุกฝ่าย ในเรื่องที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม อันเนื่องมาจากกฎอัยการศึก รวมทั้งกระบวนการทางการเมืองในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนรวม ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปรองดองและเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว

ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐยังได้กล่าวด้วยว่า การที่ประชาชนได้รับรู้ถึงความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยการที่ผู้นำซึ่งได้รับเลือกตั้งกลับถูกถอดถอนโดยรัฐบาลทหารและถูกดำเนินคดีอาญานั้น ทำให้ประชาคมนานาชาติและประชาชนชาวไทยขาดความเชื่อมั่นว่า ไทยกำลังก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

นายรัสเซลยังย้ำว่า ในฐานะที่ไทยเป็นมิตรที่สำคัญของสหรัฐ รวมทั้งความมั่งคั่งและความสำเร็จของไทยนั้นส่งผลสำคัญต่อภูมิภาคโดยรวม สหรัฐหวังว่าไทยจะมีความคืบหน้าในเรื่องของการให้ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมทุกฝ่ายในอนาคต


ขอบคุณภาพประกอบและเนื้อหาจาก เพจบีบีซีไทย

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

รายงาน..เส้นทางยิ่งลักษณ์ จากวันแรก ถึงวันถูกถอดถอนซ้ำครั้งที่4

       แม้เส้นทางระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนางสาวยิ่งลักษณ์  จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่คำว่า ประชาชนและ ประชาธิปไตยล้วนเป็นใบเบิกทาง ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ โดดเด่น สง่างาม บนเส้นทางสายนี้ ท่ามกลางการจ้องทำลายล้างจากอำนาจนอกระบบ..

       นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วีรสตรีนักประชาธิปไตย ที่จะถูกชาวโลกจารึกไว้เป็นตำนาน นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่  2 ของตระกูลชินวัตร ที่ถูกอำนาจเผด็จการ ประหารชีวิตทางการเมือง ด้วยการป้ายสีต่างๆนานา ต่อจากพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย

       และยังนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกอำนาจนอกระบบปลดออกจากตำแหน่ง นับจากนายกฯทักษิณ ที่ถูกรัฐประหาร นายกฯสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญปลด เพราะทำกับข้าวออกทีวี นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเจ้าเดิม มีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค ทำให้นายสมชาย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

       เส้นทางการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในฐานะปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ ของพรรคเพื่อไทย และชนะการเลือกตั้ง เมื่อปี 2554 ด้วยจำนวน ส.ส.265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา ต่อจากพรรคไทยรักไทย ทั้งที่นางสาวยิ่งลักษณ์  ใช้เวลาหาเสียงเพียง 49 วัน และกติกาการเลือกตั้งขณะนั้น ล้วนมุ่งสกัดพรรคเพื่อไทยทุกวิถีทาง

       ตลอดการทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร นางสาวยิ่งลักษณ์ มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน โดยไม่โต้งแย้งกับใคร แม้ในช่วงเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วันนั้น เป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยมีความขัดแย้งมากที่สุดช่วงหนึ่ง อุปนิสัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ "คนดีแต่พูด" แต่เธอเน้นทำงานอย่างมืออาชีพ จากประสบการณ์การเป็นผู้บริหารบริษัทมูลค่าหลายพันล้านบาท สมกับที่เธอได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานก่อนรับตำแหน่งนายกฯว่า "จะมุ่งแก้ไข ไม่แก้แค้น"

       ทำให้พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียง อันเป็นสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ต่อรัฐสภา หลายโครงการ ทั้งที่สานต่อนโยบายจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน และที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ ประเทศไทยช่วงนั้น กลับมามีเครดิตอีกครั้งในสายตาชาวโลก สถานะความเป็นประชาธิปไตยมีอันดับดีขึ้น ที่สำคัญ ความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยในเรื่องปากท้องก็ดีตามไปด้วย

       แต่ด้วยกลเกมการเมือง ในช่วงปลายปี 2556 การชุมนุมต่อต่านรัฐบาลของ ม็อบ กปปส. หรือ ม็อบประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง ถูกต่อยอดจากกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แม้นางสาวยิ่งลักษณ์ สั่งถอนร่างทั้งหมดออกจากสภา และยุบสภาในเวลาต่อมา  แต่ กปปส. ก็ใช้โอกาสนี้ พยายามปลุกระดม การเมืองไทยให้เข้าสู่ภาวะสุญญกาศ เพรียกหาอำนาจนอกระบบ และยังมีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งปลดนางสาวยิ่งลักษณ์ อย่างุนงง กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีด้วย

       จนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกยึดอำนาจ และล่าสุด ก็นำมาสู่การถอดถอนซ้ำซากอีก โดย สนช.ซึ่งถูกคณะรัฐประหารเองนั่นแหละ แต่งตั้งเข้ามา

       จึงนับเป็นนายกที่ถูกถอดถอนถึง 4 ครั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่พิดเพี้ยนทั้งสิ้น

       ซึ่งแน่นอนว่า การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ โดย สนช. ในโครงการรับจำนำข้าว ประชาชนทั้งประเทศ ทั้งรู้ทั้งเห็น จากการแถลงเปิด-ปิดคดี ที่ฝั่ง ป.ป.ช.โดยนายวิชา มหาคุณ แทบไม่มีพยานหลักฐานในการกล่าวหา เน้นใช้สำนวนโวหาร ใช้คำว่า ส่อออเพื่อถอดถอนอดีตนายกฯ ขณะที่อีกฝ่าย แม้มีข้อมูลข้อเท็จจริงพร้อมว่า "ไม่ผิด"..ทั้งประชาชนและนักกฎหมาย จึงได้เห็นบรรทัดฐานใหม่ ว่า "การเมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพื่อกำจัดตระกูลชินวัตร"

       แน่ล่ะ เมื่อ "ลงเรือแป๊ะ" แล้ว กระบวนการล๊อบบี้คะแนนถอดถอน จึงเกิดขึ้นในคืนก่อนวันลงมติ ในงานเลี้ยงสรรสรรค์ภายในของ สนช. อัดวาทกรรม "อย่าให้รัฐประหารเสียของ" เขย่าขวัญสมาชิก สนช.อย่างเต็มที่

       หนำซ้ำ ยังเลื่อนเวลาแถลงข่าวของอัยการสูงสุด ในการสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าว สู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้นำ ก่อนการลงมติ 1 ชั่วโมง

       นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งสุดท้าย ที่นายกฯฝ่ายประชาธิปไตยจะถูกกระทำเช่นนี้ 
       
       และแม้นางสาวยิ่งลักษณ์ จะถูกถอดถอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอจะยังเป็นนายกรัฐมนตรีในดวงใจประชาชนตลอดกาล และตามมาด้วยอาการต่างสว่างของประชาชน ทั้งแผ่นดิน ก็ต้องคอยดูต่อไปว่า อีกฝั่ง จะหาทางจัดการประชาชนผู้ศรัทธาในตัวนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างไร เพราะประชาชน คือผู้ปูทาง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ตัวจริง เส้นทางของเธอ จึงดำเนินอยู่ในใจประชาชน ไม่ใช่เหยียบหัวประชาชน

                                            ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน 
 

รายงาน..ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ลงจากหลังเสือ(แล้วกลายมาเป็นคนล่าเสือแทน)พร้อมความเคลื่อนไหวในปี2557

       ภายหลังการถูกบังคับให้ก้าวลงจากอำนาจของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเข้าทำนองสุภาษิตไทยที่ว่า "ลงจากหลังเสือ" แต่ดูเหมือนว่า ในสายตาผู้รักประชาธิปไตย  ยังคงยกย่องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในใจเสมอ เราจะไปย้อนดูความเคลื่อนไหวของนางสาวยิ่งลักษณ์ในรอบปี 2557 ที่ผ่านมา กับรายงานพิเศษชิ้นนี้..

       หลังรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง จากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่ทุกความเคลื่อนไหวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังคงถูกจับจ้องจากสาธารณชนและสื่อมวลชนอยู่ตลอดเวลา ในฐานะที่เธอคือนายกหญิงคนแรกของประเทศ ผู้อยู่กลางใจประชาชน ที่ถูกเกมการเมืองบีบคั้น ด้วยคดีความต่างๆ กระทั่งถูกรัฐประหาร จึงยาก.. ที่ผู้หญิงคนหนึ่ง จะแบกรับเรื่องราวมากมายไว้ได้ แต่เธอ..ผู้ชื่อว่ายิ่งลักษณ์ สามารถยืนหยัด โดดเด่น สง่างาม ยิ่งกว่าชายอกสามศอก จนถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสตรีที่ทรงอิทธิพลของโลก

       และดูเหมือนความโดนเด่น เป็นที่สนใจของนางสาวยิ่งลักษณ์ สามารถแย่งพื้นที่สื่อ ไปจาก คสช.อยู่ไม่น้อย เริ่มจากความเคลื่อนไหวแรกต่อสาธารณชน คือ

       เมื่อ วันที่ 21 มิถุนายน 2557 อดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ได้ควง "น้องไปป์" บุตรชาย ทำบุญวันเกิด ครบ 47 ปี ที่วัดบึงทองหลาง ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชน

       ต่อมา วันที่ 18 กรกฎาคม อดีตนายกยิ่งลักษณ์ ได้ออกมาแถลงข่าวที่โรงแรมเอสซีปาร์ค โดยแสดงความมั่นใจในความบริสุทธิ์ ภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีอาญา โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเธอระบุว่า เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ  ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น นักข่าวทั้งไทยและเทศ ได้กรูเข้าไปสัมภาษณ์ เธออย่างชุลมุน และเรียกนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า ท่านนายกซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประชาชนมอบให้เธอ

       นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังคงขึ้นหน้า1 หนังสือพิมพ์ ช่วงชิงพื้นที่ข่าวจาก คสช.อีกครั้ง เพียงแค่เธอไปเดินเยี่ยมชมตลาดน้ำอโยธยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 กันยายน

       อีกเหตุการณ์ ที่ดูเหมือนว่าสื่อมวลชน ยังให้ความสำคัญกับนางสาวยิ่งลักษณ์อยู่อย่างยิ่ง คือการที่สำนักข่าวต่างๆ ส่งทีมข่าว สร.1 ซึ่งปกติจะต้องทำหน้าที่ติดตามภารกิจนายกรัฐมนตรี แต่คราวนี้นักข่าว สร.1 ก็ได้ไปส่งเธอ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี ร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทย  เมื่อ 8 กันยายน

       อีกความเคลื่อนไหว ที่ทีมข่าว TV24 ของเรา ประจักษ์แก่ตาตัวเองว่า นางสาวยิ่งลักษณ์  ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ในใจของพี่น้องประชาชน เมื่อคราวที่เธอ ไปร่วมงานเทศกาลอาหารเจ ณ ห้างเดอะมอลล์บางกะปิ เมื่อ 24 กันยายน พร้อมกับเปิดเผยอาหารเจเมนูโปรดด้วย ว่าชื่นชอบยำเจ ซึ่งมีประชาชนมากมายมาขอถ่ายรูป แม้กระทั่งผู้บริหารศูนย์การค้า ไปจนถึงพี่วินหน้าห้าง

       และอีกครั้ง กับคลื่นมหาชน ที่ต่างมายืนต้อนรับนางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมตะโกน นายกยิ่งลักษณ์ สู้ๆในการเดินทางมาเป็นประธานพิธีสวดพระอภิธรรม พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย คืนแรก  ที่วัดบางไผ่เมื่อ 12 ตุลาคม


       คราวนี้ เป็นที่ฮือฮาทั่วโลก กับภาพที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินอยู่ท่ามกลางมวลชนหลายหมื่น เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพพันเอกอภิวันท์ เมื่อ 19 ตุลาคม กับท่าทางงามสง่า ดุจนางพญาหงส์ ที่ได้มาไว้อาลัยกับการจากไปของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งได้สร้างความฮึกเหิมแก่ผู้รักประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก

       ปลายเดือนตุลาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมบุตรชาย เดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วต่อด้วยประเทศจีน และครั้งนี้ก็ได้สร้างความฮือฮาไม่แพ้ครั้งใด  กับการปรากฏภาพ พี่ชาย พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เคียงคู่กัน ในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเมืองจีน วัดพระเขี้ยวแก้ว และสวนสัตว์แพนด้า


       ก่อนที่เธอจะพาพันตำรวจโททักษิณ เฉียดประเทศไทย ด้วยการเยี่ยมชมวัดและหมู่บ้านไทยลื้อ เมืองสิบสองปันนา  มณฑลยูนนาน  ซึ่งทั้งหมด ล้วนได้รับความสนใจจากสาธารณชน จนอาจขวางหูขวางตาผู้มีอำนาจเข้า ท้ายที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ให้เสนอข่าวอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2…

       โดยการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ มีผู้ไม่หวังดี พยายามกล่าวหาว่านางสาวยิ่งลักษณ์ จะใช้โอกาสนั้น ไม่เดินทางกลับไทย แต่ท้ายที่สุด ด้วยคุณลักษณะของเธอ ที่เป็นคนตรง พูดคำไหนคำนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ กลับมาตามสัญญา...

       จะด้วยคุณลักษณะนี้หรือไม่ ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่นั้น รักเธอยิ่งนัก/ ยืนยันจาก นางสาวขัตติยา สวัสดิผล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ผู้เคยร่วมงานใกล้ชิดกับอดีตนายกฯว่า นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นคนติดดิน ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ เธออาศัยความนิ่งแล้วตั้งใจทำงาน ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ไม่ใชคนที่ ดีแต่พูด


       สายเลือดของตระกูลชินวัตร ที่ไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวัง นางสาวยิ่งลักษณ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ครองใจประชาชนได้



       และ ณ วันนี้ วันที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงจากหลังเสือ แม้จะหมดอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้พิสูจน์ทฤษฎีของนักปรัชญาการเมืองที่ว่า อำนาจที่แท้ มาจากการยินยอมพร้อมใจมอบให้จากประชาชน  คนที่ปล้นอำนาจคนอื่นมา จึงเปรียบเสมือนเสือที่ไร้เขี้ยวเล็บ แต่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์นั้น หลังจากที่ได้ลงจากหลังเสือแล้ว เธอได้กลายมาเป็นนายพรานล่าเสือแทนต่างหาก
                                          ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

จารึกไว้! คำแถลงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังถูกถอดถอน

คำแถลง นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28
23 มกราคม 2558

เรียน พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน

เป็นไปตามความคาดหมาย ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติ ถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องดิฉัน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ดิฉันขอแถลงดังนี้

ดิฉัน ขอยืนยัน และมั่นใจในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอขอบคุณเสียงส่วนน้อย ที่ยังคงยึดมั่นในหลักการ และความเที่ยงธรรม ซึ่งในกระบวนการต่างๆ ได้ริดรอน และตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของดิฉัน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่พึงได้รับ

ดิฉันขอยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ดี ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับตัวเลขความเสียหาย ที่พยายามจะยัดเยียดให้ดิฉันนั้น ก็เป็นเพราะความมีอคติต่อตัวดิฉัน และนำชาวนามาเป็นเครื่องมือ ในการทำลายล้างทางการเมือง

ดังที่ดิฉัน ได้เคยกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ เมืองอูลัน บาตอ ประเทศมองโกเลียว่า “ดิฉันนั้นต้องการเห็น ความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศไทย และประชาธิปไตยของไทย พัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยหลักนิติธรรม และกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรง มีขั้นตอนที่ชัดเจน โปร่งใส และเมื่อนั้น ทุกคนจะสามารถมั่นใจได้ว่า เขา จะได้รับการดูแลที่ยุติธรรม”

ดิฉันยังคงยืนยัน ในคำพูดดังกล่าว แม้ว่าวันนี้ ประชาธิปไตยไทยได้ตายไปแล้วพร้อมกับหลักนิติธรรม แต่ขบวนการทำลายล้าง ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่ดิฉันได้ประสบอยู่ขณะนี้

เป็นที่น่าเสียใจ และเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเชื่อว่า มีเหตุการณ์บังเอิญต่างๆมากมาย ตามที่ดิฉันได้แถลงปิดสำนวนไปเมื่อวานนี้ และเป็นการบังเอิญ ที่ไม่ใช่ความบังเอิญ อีกครั้งหนึ่ง คือก่อนเวลาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเริ่มลงมติถอดถอน เพียง 1 ชั่วโมง อัยการสูงสุด ก็ได้แถลงสั่งฟ้องดิฉัน ในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่ หัวหน้าคณะผู้แทนอัยการสูงสุด ยืนยันว่า ยังต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของคดีต่อไป

องค์กรอัยการ ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างความน่าเชื่อถือ ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน กลับต้องถูก ตั้งข้อสงสัย ในประเด็นนี้ค่ะ

ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน นั้น ดิฉันตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเท ที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไม่เลือกปฎิบัติ และดิฉันภูมิใจ ที่ช่วงหนึ่งในชีวิต ได้ทำให้พี่น้องชาวนา และคนยากจน ได้ลืมตา อ้าปาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ในวันนี้ ดิฉัน ไม่มีตำแหน่งอะไรเหลืออยู่แล้ว ยังคงเหลือแต่ คดีความ ที่ถูกยัดเยียดไว้ให้ ที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

คำว่าความปรองดอง จะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่ใช่การไล่ล่าคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงความเป็นกลาง ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย เมื่อความเป็นธรรมเกิด ความยุติธรรมก็จะตามมา การยอมรับ ความสงบ ความสามัคคีก็จะมีขึ้นในสังคมไทย

เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แทนที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน แล้วร่วมกันทำให้ประเทศของเราเข้มแข็ง แต่กลับสร้างความจงเกลียดจงชังให้แก่กัน ไล่ล่าเพื่อให้ไม่มีที่ยืน สุดท้ายคนที่เสียหายก็คือประเทศของเรา

ดิฉันรันทดใจ ไม่ใช่เพราะดิฉันถูกกลั่นแกล้ง และประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม แต่ดิฉันเสียใจแทนชาวนา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องสูญเสียโอกาส ต้องกลับไปอยู่ในวังวน ของความยากจน มีหนี้สิน ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ตลอดจน กฎหมายถูกบิดเบือน

สุดท้ายนี้ ดิฉันก็หวังว่า ผู้ที่เป็นฝ่ายอำนวยความยุติธรรมของประเทศ จะไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่รักษากติกาประชาธิปไตย และไม่รักษา หลักนิติรัฐ นิติธรรม มาชี้นำใดใดอีก ดังที่มีนักวิชาการกล่าวว่า “ไม่มียิ่งลักษณ์ คนไทยยังอยู่กันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ในระบบการปกครองของไทยแล้ว คงไม่มีใครอยู่ได้”

อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอยืนยันว่า ดิฉันจะต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของดิฉันไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญ คือ ดิฉัน จะขอยืนหยัด อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทย เราต้องร่วมกันนำความเจริญก้าวหน้า มาสู่ประเทศ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเรากลับคืนมา และสร้างความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง

https://www.facebook.com/Y.Shinawatra/posts/934293759948413:0

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

"ภูมิธรรม" ชี้ ผลตัดสินยิ่งลักษณ์จะเป็นบรรทัดฐาน นายกฯทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบในลักษณะเดียวกัน







       (22 ม.ค.58) นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว ภายหลัง ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีการแถลงปิดคดีถอนถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันนี้ว่า
       "นายกยิ่งลักษณ์"ได้แถลงคดีปิดประเด็นพร้อมแสดงเหตุผลต่างๆอย่างครบถ้วน..ชี้ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาปปช.ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าปล่อยปะละเลยอย่างไร
       "ถ้าปปช.ตั้งใจจะเอาผิดท่านยิ่งลักษณ์ครั้งนี้..นายกปท.ไทยที่ผ่านมาเกือบทุกท่านจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก"

       ..ผลการตัดสินที่จะเกิดขึ้นจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญ ที่ชี้อนาคตการเมืองไทย ท่ามกลางสายตาของทุกฝ่ายที่กำลังเฝ้าดูอยู่ด้วยความกังวลใจต่ออนาคตของปท.

ชมลีลา อดีตนายกยิ่งลักษณ์ตอบคำถามกองทัพสื่อมวลชนทั้งไทย-เทศ ก่อนแถลงปิดคดีถอดถอน

       
       


       นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนการชี้แจงปิดคดี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ว่า มีความพร้อมในการแจงปิดคดี โดยจะสรุปรายละเอียดข้อมูลตั้งแต่ต้นให้ประชาชน และ สนช.ได้รับทราบ พร้อมระบุว่า ที่ไม่ได้มาในวันตอบคำถาม 35 ข้อ ยืนยันว่าไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ซึ่งวันนี้ก็จะชี้แจงให้ที่ประชุมเข้าใจ เนื่องจากได้มอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้รู้รายละเอียด และข้อบังคับก็เปิดโอกาสให้  ขณะเดียวกันนางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะทำอย่างเต็มที่ ด้วยการชี้แจงรายละเอียดให้ผู้ฟังตัดสิน และหวังว่าจะให้ความเป็นธรรมแก่ตน

ทนายยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกต มติคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. รวบรัด รีบ จ้องสั่งฟ้องอาญาหวังสร้างกระแสก่อนที่ประชุม สนช. มีมติถอดถอน พร้อมเตรียมร่อนหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด พรุ่งนี้



       (วันที่ 22 มกราคม 2558 เวลา 15.30น.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุดว่าได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจาก ที่ตนตั้งข้อสังเกต เพราะได้ไปยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดรวม 2 ครั้ง ภายหลังที่ ป.ป.ช. ส่งสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวมายังอัยการสูงสุด และต่อมาอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานที่มีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานในเบื้องต้นคณะทำงานได้สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากสำนวน ป.ป.ช. แล้ว อัยการสูงสุดได้ชี้ ข้อไม่สมบูรณ์รวม 3 ประเด็น อาทิเช่น คดีนี้ไม่มีหลักฐานทุจริต มีเพียงปกรายงาน TDRI ให้สั่งสอบว่ามีการทุจริตในขั้นตอนใด เป็นต้น และครั้งสุดท้ายตนได้ไปยื่นขอความเป็นธรรมตามที่อัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์ ปรากฏว่า เมื่อ 16 มกราคม 2558 นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ตอบข้อซักถามในสภาฯ ในลักษณะชี้นำทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นความลับว่ามีการตกลงระหว่างคณะทำงานร่วม ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่าย ป.ป.ช. เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าคณะทำงานร่วมมีมติเห็นว่าคดีมีมูล มีข้อตกลงกันได้ว่าอัยการสูงสุดจะฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวให้กับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นข้อพิรุธว่าเหตุใด นายวิชาฯ จึงกล้าพูดชี้นำเช่นนั้น แต่ความมาปรากฏต่อมาว่า นายวุฒิพงศ์ฯ หัวหน้าคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด กับฝ่าย ป.ป.ช. แถลงข้อเท็จจริง วันที่ 21 มกราคม 2558 ว่า “ตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานไม่เห็นทราบเรื่องที่ ป.ป.ช. ไปออกข่าว ไปประชุมกันตอนไหน ยังงงว่าทำไมไม่เชิญตนเพราะคณะทำงานร่วมยังไม่สรุปเรื่องเลย ยังอยู่ขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่สมบูรณ์ สอบพยานเพิ่มเติม 2 ปาก ยังไม่ถึงไหน ยังไม่รายงานเลย...และยืนยันว่าการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ต้องพิจารณาคำให้การของพยานที่สอบเพิ่มเติมและหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่าย ป.ป.ช. ขอจากหน่วยราชการมาให้ครบถ้วนเสียก่อน” จากข่าวนี้ ทำให้เห็นว่าคำสั่งของอัยการสูงสุดยังไม่ได้รับการปฏิบัติให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

       นอกจากนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กลับให้ข่าวยืนยันว่าได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มีตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช. 10 คน และตัวแทนฝ่ายอัยการสูงสุด 3 คน โดยยืนยันว่าเป็นการประชุมที่สมบูรณ์แล้ว และอ้างว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าขณะนี้ข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ฯ นั้น ได้มีการสอบพยานบุคคลและหาพยานหลักฐานต่างๆ จนครบถ้วน สามารถฟ้องคดีได้ จึงมีมติเสนอเรื่องส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อไป

       นายนรวิชญ์ กล่าวว่า อัยการสูงสุดฟ้องคดีโดยไม่รับฟังข้อยุติจากคณะทำงานที่ตนแต่งตั้งมาเองได้อย่างไร ซึ่งนายวุฒิพงศ์ฯ ก็ได้ยืนยันว่าคดีนี้ข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้รับการพิจารณาไต่สวนให้คดีมีความสมบูรณ์ และทำไมตนจึงไม่ทราบว่ามีการประชุมครั้งนี้ หากข่าวที่นายสรรเสริญ ยืนยันเป็นจริง จึงมีคำถามว่า อัยการจำนวน 3 คน ที่ร่วมประชุมถือเป็นตัวแทนอัยการสูงสุดหรือไม่ และมติที่นายสรรเสริญฯ อ้างนั้นเป็นมติที่ชอบของคณะทำงานชุดใหญ่ที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งหรือไม่ เพราะหัวหน้าคณะทำงานยังไม่รับทราบ และยังยืนยันว่าข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ เช่นนี้ ถือได้หรือไม่ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ไม่ชอบ

       “ในฐานะทนายความของ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดในวันที่ 23 มกราคม 2558 เพราะผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำของประเทศ จึงควรดำรงไว้ซึ่ง หลักนิติธรรม และอัยการสูงสุด จำเป็นที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดำรงมากว่า 100 ปี”
                                                                                              โดย ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

กำหนดคิว แถลงเปิดคดีถอดถอน 38 อดีต ส.ว.25 ก.พ.นี้


21-1-2558 17-27-29รัฐสภา 21 ม.ค.- ที่ประชุม สนช.เห็นชอบกับการกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว. 25 ก.พ.นี้ และยกเว้นข้อบังคับให้ขยายวันยื่นข้อซักถามได้ หลังวันแถลงเปิดคดี เป็นก่อนเที่ยง 27 ก.พ. พร้อมมีมติไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมพยานหลักฐาน
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงบ่ายวันนี้ (21 ม.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้กล่าวหา และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 คน ผู้ถูกกล่าวหา (ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 ข้อ 149) โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณา ได้มีการหารือถึงหนังสือคัดค้านสมาชิก สนช. 16 คน ที่เป็นอดีต ส.ว. และเคยยื่นเรื่องร้องไปยัง ป.ป.ช. เข้าร่วมการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านดังกล่าว เพราะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ สนช.ทำหน้าที่เสมือน ส.ว. และมั่นใจว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ขณะที่ประธาน สนช. ยืนยันว่า ไม่มีบทบัญญัติห้ามสมาชิก สนช.ที่เป็นอดีต ส.ว.เข้าร่วมพิจารณา หรือลงมติถอดถอน ดังนั้น จึงเดินหน้าตามกระบวนการถอดถอนต่อ ซึ่งขณะนี้มีรายละเอียดสำนวนข้อกล่าวหา จำนวน 16,132 แผ่น สมาชิกสามารถไปศึกษาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ประชุมกำหนดให้วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10.00 น. เป็นวันแถลงเปิดคดีของ 38 อดีต ส.ว. และเปิดให้สมาชิกสามารถยื่นญัตติกำหนดประเด็นซักถามทั้ง 2 ฝ่าย คือ ป.ป.ช.ผู้กล่าวหา และอดีต ส.ว.ที่ถูกกล่าวหา ได้ถึงวันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติไม่อนุญาตให้ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ขอเพิ่มพยานหลักฐาน ด้วยคะแนน 109 ต่อ 65 คะแนน
และช่วงท้ายของการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เสนอญัตติขอยกเว้นข้อบังคับการประชุม เพื่อให้ขยายเวลาการเสนอญัตติข้อซักถามได้ภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาซักถามได้.- สำนักข่าวไทย

DSI นำพระสุเทพ,พระพุทธอิสระ และแกนนำม็อบ กปปส. ส่งฟ้องต่ออัยการ ข้อหากบฏ

      


       (21 ม.ค.58) พระสุเทพ ปภากโร หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. พร้อมด้วยอดีตแกนนำ กปปส. รวม 28 คน เดินทางมารายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด  ถนนรัชดาภิเษก ตามนัดของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อส่งฟ้องสำนวนคดีกบฎและก่อการร้าย ต่อพนักงานอัยการ  จากกรณีที่พระสุเทพกับพวก ปลุกระดมมวลมหาประชาชนให้ออกมาร่วมชุมนุม กับกลุ่ม กปปส.เมื่อปี 2557

       ด้านนายโกศลวัฒน์  อินทุจันทร์ยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีนี้ ว่าจะฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 5 มีนาคม เวลา 10 นาฬิกา ส่วนที่แกนนำ กปปส.ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมนั้น ทางอัยการก็จะรับไว้พิจารณา และยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ศาลให้ประกัน "เก่ง การุณ" แล้ว


       (21 ม.ค.58) จากกรณีที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นพิพากษา ในคดีที่ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องนายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ฐานหมิ่นประมาทบนเวทีปราศรัยหาเสียงที่ตลาดบุญอนันต์ และตลาดนัดโกสุมรวมใจ ย่านดอนเมือง เมื่อปี 2554 โดยศาลได้สั่งจำคุก 2 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 16 เดือน ไม่รอลงอาญานั้น

       ต่อมานายการุณ โหสกุล ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 3 แสนบาท ขอศาลปล่อยตัวชั่วคราว ล่าสุดศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว

ครม.เศรษฐกิจยอมรับ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรล้มเหลว!

       (20 ม.ค.58) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน

       โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในที่ประชุม คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมา ยอมรับ ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี และส่งผลดีโดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้ในเกณฑ์ปานกลาง ถึง รายได้สูง ทว่า โครงการของรัฐบาลยังไม่ช่วยประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ เช่น เกษตรกรอีกกว่า 15 ล้านคน

อ่านเพิ่มเติมใน..อึ้ง! มาตรการรัฐช่วย "แก้จน" ไม่ได้ "บิ๊กตู่" รับผิดเป้าหมายเกษตรกรไทยยังไส้แห้ง

“รองอัยการสูงสุด”งง! ป.ป.ช.ส่งฟ้องอาญา“ยิ่งลักษณ์” ถาม ไปคุยกันตอนไหน


(21 ม.ค.58) เวลา 12.30 น.นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด(อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ระบุคณะทำงาน ป.ป.ช.และฝ่าย อสส.เห็นพ้องส่งดำเนินการส่งฟ้องคดีอาญา น.ส.ย่ิงลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า "ตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯไม่เห็นทราบเรื่องที่ป.ป.ช.ไปออกข่าว ไปประชุมกันตอนไหน ยังงงๆ ทำไมไม่เชิญตน เพราะคณะทำงานฯยังไม่สรุปเรื่องเลย ยังอยู่ขั้นตอนรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่สมบูรณ์ สอบพยานเพิ่มเติม 2 ปากไม่ถึงไหนยังไม่รายงานเลย ตนจะเรียกคณะทำงานมาสอบถามสรุปความว่าตกลงยังไง"

       เมื่อถามว่า จะสอบถามป.ป.ช.หรือไม่ นายวุฒิพงศ์ ​กล่าวว่า "คงไม่สอบถาม เมื่อ ป.ป.ช.เป็นคนให้ข่าวก็ต้องรับผิดชอบเอง ยืนยันว่า การพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ต้องพิจารณาคำให้การของพยานที่สอบเพิ่มเติม และหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่าย ป.ป.ช. ขอจากหน่วยงานราชการมาให้ครบถ้วนเสียก่อน"

บุญทรง ย้ำการชี้มูลระบายข้าว(จีทูจี)ของป.ป.ช. มีวาระซ่อนเร้นหวังกลั่นแกล้งให้เป็นเหยื่อทางการเมืองประสงค์ชี้นำและกดดันสนช.ลงมติอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์


       (วันที่ 21 มกราคม 2558) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การถึงการชี้มูลของคณะกรรมการป.ป.ช.เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะมีวาระซ่อนเร้นโดยไม่ใช่เหตุบังเอิญในช่วงเวลาตามที่ท่านวิชา มหาคุณ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในการแถลงเมื่อวานนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากการชี้มูลในคดีของตนเองเกิดก่อนที่จะมีการลงมติในคดีถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 23 มกราคม 2558 ทั้งๆที่ ป.ป.ช. ก็ได้ยอมรับในคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ว่า อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตด้วย เพียงแต่กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ที่ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวของรัฐบาลเท่านั้น และที่สำคัญอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็เพียงแต่เป็นผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติดังนั้นการชี้มูลเอากับตนเองเวลานี้เพียงเพราะต้องการหาแพะมาดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงให้อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฯ มีความผิดให้ได้ เพื่อใช้มูลความผิดกรณีนี้มา กดดันหรือชี้นำในการลงมติของ สนช. เพื่อให้เห็นว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการทุจริตดังที่ป.ป.ช.ได้เคยชี้มูลความผิดไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงจำเป็นต้องมีการชี้มูลความผิดก่อนหน้าที่สนช.จะลงมติคดีถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก่อนหน้า 2 วันเท่านั้น การที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกับตนเองในครั้งนี้จึงเป็นเพียงการใช้กรณีตนเป็นเหยื่อทางการเมืองเพื่อถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เท่านั้น

       นายบุญทรงยังได้ข้อสงสัยในการพิจารณาชี้มูลคดีของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีนี้อีกด้วยว่าตัวเลขมูลค่าความเสียหายซึ่ง ป.ป.ช แถลงว่า มูลค่าความเสียหายคาดว่าเกิน 6 แสนล้านบาทขึ้นไปนั้น อยากทราบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. นำตัวเลขดังกล่าวมาจากไหน เนื่องจากเท่าที่ทราบจากเอกสารของกรมการค้าต่างประเทศการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีทั้ง 4 สัญญานั้น ได้มีการชำระเงินค่าข้าวแล้ว และจำนวนเงินดังกล่าวนั้นกรมการค้าต่างประเทศก็ได้แจ้งให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. รับทราบแล้ว ซึ่งก็คือตัวเลขตามที่นายวิชา มหาคุณ แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 คือจากการทำสัญญาซื้อขายจำนวน 4 ฉบับ รวมมูลค่าเป็นเงินจำนวน 70,549 ล้านกว่าบาท โดยเงินจำนวนนี้ก็ได้มีการชำระคืนให้กับธกส.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

       อย่างไรก็ตามนายบุญทรงกล่าวเพิ่มเติมว่าไม่เข้าใจ ป.ป.ช. มีจุดมุ่งหมายอย่างไรกันแน่ในการชี้มูลความผิดของตนเองทั้งๆที่ผ่านมาในขั้นตอนการไต่สวน ได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. รับทราบมาโดยตลอด แต่จากการชี้มูลความผิดเมื่อวานนี้ กลับไม่พบว่า ป.ป.ช. จะนำข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ตนได้เคยชี้แจงมาพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

       “สำหรับผมแล้วยืนยันพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ข้อร้องว่าอย่านำเรื่องตนเองมาเป็นประเด็นทางการเมืองในคดีถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายบุญทรงกล่าว

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

เป็นไปได้ไหม? นิรโทษกรรม ยุค คสช.

       จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พบว่า ภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จะจบลงด้วยการนิรโทษกรรมทุกครั้ง โดยหวังให้เกิดความปรองดอง  เช่นเดียวกับปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องคอยจับตาดูว่า สังคมไทยจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้หรือไม่ หากไม่พูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม...

       เชื่อว่าทุกคน ต่างกำลังจับตา การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ภายหลังจากการรัฐประหาร เพราะก่อนหน้านี้ คงจำกันได้ไม่ลืม ว่าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อหวังช่วยเหลือนักโทษการเมืองและสร้างความปรองดอง แต่ก็กลับกลายเป็นชนวน ชุมนุมล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และลากยาวปูทางให้เกิดรัฐประหารในที่สุด

       หลายฝ่ายมองว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่จะต้องออกกฎหมายนิรโทษ เพื่อผ่าทางตัน  ก้าวข้ามความขัดแย้ง ล่าสุด ก็มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 กล่าวว่า "เรื่องการนิรโทษกรรมต้องทำให้ได้ เพื่อให้คนในประเทศเกิดความปรองดองกัน โดยได้เสนอคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ปี 2548 เว้นความผิดที่ถึงแก่ความตายและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

       ส่วนนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ก็ได้ชงให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ในการออกกฎหมายปรองดอง คืนความสุขในช่วงปีใหม่(2558)

       ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาขานรับว่า "หากเป็นการนิรโทษครึ่งซอย สังคมไทยจะรับได้"

       ซึ่งก็เป็นแนวโน้มความเห็นจากคนกลางๆในขณะนี้

       และหากศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว จะพบว่า กฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ

หนึ่ง การนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการกบฏ รัฐประหาร ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ รวมเป็น 16 ครั้ง ด้วยวิธีการออกเป็นกฎหมาย 13 ฉบับ และบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ซึ่งรวมการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ด้วย

สอง การนิรโทษกรรมแก่การชุมนุมทางการเมือง หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง 3 ครั้ง โดยออกเป็น พรบ.ทั้ง 3 ฉบับ ที่สำคัญคือการนิรโทษกรรมให้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์เดือนตุลา ทั้งปี 2516 และปี 2519

สาม การนิรโทษกรรม ให้แก่การกระทำทางการเมืองอีก 4 ครั้ง อาทิ นิรโทษกรรมให้กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่2 อย่างขบวนการเสรีไทย ที่ได้ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามโลกได้

       ดังนั้น เมื่อสำรวจกฎหมายนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การก่อกบฏ การก่อจลาจล การรัฐประหาร การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หรือการชุมนุมเรียกร้องขอให้มีการเลือกตั้ง ตามวิถีทางประชาธิปไตย ล้วนเป็นคดีการเมือง จึงได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น

       แม้แต่นายทหาร ซึ่งมิได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่พยายามเข้ายึดอำนาจรัฐ ยังได้รับการนิรโทษกรรม  จึงสมเหตุสมผล ที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย สมควรได้รับการนิรโทษด้วย

       และด้วยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สอนให้เรารู้ว่า ภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้ง หรือ หลังการรัฐประหาร จะต้องจบด้วยการนิรโทษกรรมทุกครั้ง เหตุการณ์บ้านเมือง จึงสงบลงได้ หรือไม่ก็ด้วยกฎหมายพิเศษ เช่น คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ซึ่งใช้การเมืองนำการทหาร เรียกร้องให้ ทหารป่าคืนสู่เหย้า ปิดฉากความขัดแย้งระหว่างรัฐไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

       จึงน่าจับตาดูว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ จะเข้าสู่โหมดปรองดองได้หรือไม่ หากไม่มีการนิรโทษกรรม



 ** ขอบคุณข้อมูลประกอบเรื่องนิรโทษกรรม ของ ศราวุฒิ ประทุมราช


"อย่าลืมปฏิรูปกองทัพ" สัมภาษณ์พิเศษ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

       ดูเหมือนว่าการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพเลย ทั้งๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาโดยตลอด  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการได้เสนอแนวทางปฏิรูปกองทัพไว้อย่างน่าสนใจ...       

       มีผู้กล่าวว่า ต่อให้ประเทศไทยตั้งสภาปฏิรูปอีกนับร้อยๆครั้ง หากแต่ไม่ปฏิรูปกองทัพ หรือ วงการทหารแล้ว การปฏิรูป จะไม่มีทางไปถึงฝั่งฝันได้เลย   เนื่องจากทหาร มีบทบาทแทรกแซงการเมืองไทยมาตลอด โดยเฉพาะในระยะหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร 19 กันยายน  2549 และครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557

        เกษม เพ็ญภินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในบริบทโลก กองทัพ ลดบทบาทลง และเป็นทหารอาชีพมากขึ้น เข้ามาอยู่ในครรลองประชาธิปไตยมากขึ้น  แต่กองทัพไทย พยายามแยกบทบาทเป็นอิสระ  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย


        การที่กองทัพพยายามวางตนเป็นอิสระ เช่นนี้  จึงเป็นโจทย์หลักที่คณะปฏิรูปต้องกล่าวถึง  โดยเกษม เพ็ญภินันท์  วิเคราะห์ว่า กองทัพเป็นหน่วยงานหนึ่งของระบบราชการ แต่สิ่งที่กองทัพทำ เป็นรัฐซ้อนรัฐ ลักษณะกองทัพ เป็นภาพจำลองของการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ซึ่งเข้าข่ายงานทับซ้อนกันกับมหาดไทย และสังคมไทย ไม่ได้ต้องการความมั่นคงขนาดนั้น จึงต้องลดสัดส่วน บทบาท จัดการให้เป็นทหารอาชีพ ซึ่งจะโยงถึงงบประมาณด้วย ว่าจำเป็นขนาดไหน ที่ต้องเพิ่มยุทโธปกรณ์ เพราะความจำเป็นนับวันยิ่งน้อยลง


        ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ประกอบด้วย

ประการแรก กองทัพไม่ควรผูกขาดเรื่องความมั่นคงของชาติ เพราะความมั่นคงหมายรวมทุกด้าน ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง 

สอง ต้องยอมรับว่า กองทัพ มีหน้าที่ปกป้องประเทศ ไม่ใช่บริหารประเทศ จึงต้องแบ่งหน้าที่ให้ดี 

สาม เรื่องกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจกองทัพในการประกาศใช้ เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงถึงขอบเขตและความรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหนอนดักแด้ของการรัฐประหารเกือบทุกครั้ง 

และประการที่สี่ สภากลาโหม ควรได้รับการรับรองจากรัฐสภา กระบวนการต่างๆของกองทัพ ต้องได้รับการตรวจสอบ จากสถาบันในระบอบประชาธิปไตย

        นอกจากนี้ เกษม ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหา การแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ว่าต้องดูให้เห็นถึงอุดมการณ์ของทหาร ที่ได้รับปลูกฝังมา แบบสวนทางกับระบอบประชาธิปไตยด้วย และต้องปฏิรูปไปให้ถึงจุดนั้น

        พบว่าในวงการทหาร ปลูกฝังผิดๆ ด้วยการตีความว่า รัฐธรรมนูญ อาทิ ฉบับปี 2550  มาตรา 77 ให้ทหารสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้ อย่างการทำการรัฐประหาร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง ทั้งๆที่มาตรา 77 ระบุไว้กว้างๆว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์  เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต และต้องจัดให้มีกองกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อการพัฒนาประเทศ

        ปรากฏการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับผลวิจัยเก่าเมื่อปี 2519 ของทรรศนีย์ ปัจจุสานนท์ ที่พบว่า นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือ จปร.ส่วนใหญ่มีทัศนคติทางการเมืองที่เป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย

        อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายดิเรก ถึงฝั่ง กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุม สปช. ไม่มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปกองทัพ


       จึงน่าจะชัดเจนว่า ตราบใดที่กองทัพ ไม่อยู่ภายใต้ประชาธิปไตย  ตราบใดที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ ถ่วงดุล ทั้งงบประมาณและกำลังพล  ตราบใดที่ทหารไม่ถูกจัดอยู่ในกรอบมืออาชีพ และตราบใดที่กองทัพยังไม่ปลูกฝังวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่ได้ ตราบนั้น การปฏิรูป ก็ยังไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ และการเมืองไทย ก็จะอยู่ในวงจรเดิมๆ ต่อไป


ดูคลิป รายการเสียงประชาชน ตอน "อย่าลืมปฏิรูปกองทัพ"