วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

เป็นไปได้ไหม? นิรโทษกรรม ยุค คสช.

       จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พบว่า ภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จะจบลงด้วยการนิรโทษกรรมทุกครั้ง โดยหวังให้เกิดความปรองดอง  เช่นเดียวกับปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องคอยจับตาดูว่า สังคมไทยจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้หรือไม่ หากไม่พูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม...

       เชื่อว่าทุกคน ต่างกำลังจับตา การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ภายหลังจากการรัฐประหาร เพราะก่อนหน้านี้ คงจำกันได้ไม่ลืม ว่าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อหวังช่วยเหลือนักโทษการเมืองและสร้างความปรองดอง แต่ก็กลับกลายเป็นชนวน ชุมนุมล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และลากยาวปูทางให้เกิดรัฐประหารในที่สุด

       หลายฝ่ายมองว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่จะต้องออกกฎหมายนิรโทษ เพื่อผ่าทางตัน  ก้าวข้ามความขัดแย้ง ล่าสุด ก็มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 กล่าวว่า "เรื่องการนิรโทษกรรมต้องทำให้ได้ เพื่อให้คนในประเทศเกิดความปรองดองกัน โดยได้เสนอคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ปี 2548 เว้นความผิดที่ถึงแก่ความตายและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

       ส่วนนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ก็ได้ชงให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ในการออกกฎหมายปรองดอง คืนความสุขในช่วงปีใหม่(2558)

       ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาขานรับว่า "หากเป็นการนิรโทษครึ่งซอย สังคมไทยจะรับได้"

       ซึ่งก็เป็นแนวโน้มความเห็นจากคนกลางๆในขณะนี้

       และหากศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว จะพบว่า กฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ

หนึ่ง การนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการกบฏ รัฐประหาร ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ รวมเป็น 16 ครั้ง ด้วยวิธีการออกเป็นกฎหมาย 13 ฉบับ และบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ซึ่งรวมการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ด้วย

สอง การนิรโทษกรรมแก่การชุมนุมทางการเมือง หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง 3 ครั้ง โดยออกเป็น พรบ.ทั้ง 3 ฉบับ ที่สำคัญคือการนิรโทษกรรมให้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์เดือนตุลา ทั้งปี 2516 และปี 2519

สาม การนิรโทษกรรม ให้แก่การกระทำทางการเมืองอีก 4 ครั้ง อาทิ นิรโทษกรรมให้กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่2 อย่างขบวนการเสรีไทย ที่ได้ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามโลกได้

       ดังนั้น เมื่อสำรวจกฎหมายนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การก่อกบฏ การก่อจลาจล การรัฐประหาร การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หรือการชุมนุมเรียกร้องขอให้มีการเลือกตั้ง ตามวิถีทางประชาธิปไตย ล้วนเป็นคดีการเมือง จึงได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น

       แม้แต่นายทหาร ซึ่งมิได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่พยายามเข้ายึดอำนาจรัฐ ยังได้รับการนิรโทษกรรม  จึงสมเหตุสมผล ที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย สมควรได้รับการนิรโทษด้วย

       และด้วยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สอนให้เรารู้ว่า ภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้ง หรือ หลังการรัฐประหาร จะต้องจบด้วยการนิรโทษกรรมทุกครั้ง เหตุการณ์บ้านเมือง จึงสงบลงได้ หรือไม่ก็ด้วยกฎหมายพิเศษ เช่น คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ซึ่งใช้การเมืองนำการทหาร เรียกร้องให้ ทหารป่าคืนสู่เหย้า ปิดฉากความขัดแย้งระหว่างรัฐไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

       จึงน่าจับตาดูว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ จะเข้าสู่โหมดปรองดองได้หรือไม่ หากไม่มีการนิรโทษกรรม



 ** ขอบคุณข้อมูลประกอบเรื่องนิรโทษกรรม ของ ศราวุฒิ ประทุมราช


ไม่มีความคิดเห็น :