วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

"อย่าลืมปฏิรูปกองทัพ" สัมภาษณ์พิเศษ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

       ดูเหมือนว่าการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพเลย ทั้งๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาโดยตลอด  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการได้เสนอแนวทางปฏิรูปกองทัพไว้อย่างน่าสนใจ...       

       มีผู้กล่าวว่า ต่อให้ประเทศไทยตั้งสภาปฏิรูปอีกนับร้อยๆครั้ง หากแต่ไม่ปฏิรูปกองทัพ หรือ วงการทหารแล้ว การปฏิรูป จะไม่มีทางไปถึงฝั่งฝันได้เลย   เนื่องจากทหาร มีบทบาทแทรกแซงการเมืองไทยมาตลอด โดยเฉพาะในระยะหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร 19 กันยายน  2549 และครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557

        เกษม เพ็ญภินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในบริบทโลก กองทัพ ลดบทบาทลง และเป็นทหารอาชีพมากขึ้น เข้ามาอยู่ในครรลองประชาธิปไตยมากขึ้น  แต่กองทัพไทย พยายามแยกบทบาทเป็นอิสระ  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย


        การที่กองทัพพยายามวางตนเป็นอิสระ เช่นนี้  จึงเป็นโจทย์หลักที่คณะปฏิรูปต้องกล่าวถึง  โดยเกษม เพ็ญภินันท์  วิเคราะห์ว่า กองทัพเป็นหน่วยงานหนึ่งของระบบราชการ แต่สิ่งที่กองทัพทำ เป็นรัฐซ้อนรัฐ ลักษณะกองทัพ เป็นภาพจำลองของการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ซึ่งเข้าข่ายงานทับซ้อนกันกับมหาดไทย และสังคมไทย ไม่ได้ต้องการความมั่นคงขนาดนั้น จึงต้องลดสัดส่วน บทบาท จัดการให้เป็นทหารอาชีพ ซึ่งจะโยงถึงงบประมาณด้วย ว่าจำเป็นขนาดไหน ที่ต้องเพิ่มยุทโธปกรณ์ เพราะความจำเป็นนับวันยิ่งน้อยลง


        ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ประกอบด้วย

ประการแรก กองทัพไม่ควรผูกขาดเรื่องความมั่นคงของชาติ เพราะความมั่นคงหมายรวมทุกด้าน ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง 

สอง ต้องยอมรับว่า กองทัพ มีหน้าที่ปกป้องประเทศ ไม่ใช่บริหารประเทศ จึงต้องแบ่งหน้าที่ให้ดี 

สาม เรื่องกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจกองทัพในการประกาศใช้ เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงถึงขอบเขตและความรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหนอนดักแด้ของการรัฐประหารเกือบทุกครั้ง 

และประการที่สี่ สภากลาโหม ควรได้รับการรับรองจากรัฐสภา กระบวนการต่างๆของกองทัพ ต้องได้รับการตรวจสอบ จากสถาบันในระบอบประชาธิปไตย

        นอกจากนี้ เกษม ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหา การแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ว่าต้องดูให้เห็นถึงอุดมการณ์ของทหาร ที่ได้รับปลูกฝังมา แบบสวนทางกับระบอบประชาธิปไตยด้วย และต้องปฏิรูปไปให้ถึงจุดนั้น

        พบว่าในวงการทหาร ปลูกฝังผิดๆ ด้วยการตีความว่า รัฐธรรมนูญ อาทิ ฉบับปี 2550  มาตรา 77 ให้ทหารสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้ อย่างการทำการรัฐประหาร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง ทั้งๆที่มาตรา 77 ระบุไว้กว้างๆว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์  เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต และต้องจัดให้มีกองกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อการพัฒนาประเทศ

        ปรากฏการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับผลวิจัยเก่าเมื่อปี 2519 ของทรรศนีย์ ปัจจุสานนท์ ที่พบว่า นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือ จปร.ส่วนใหญ่มีทัศนคติทางการเมืองที่เป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย

        อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายดิเรก ถึงฝั่ง กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุม สปช. ไม่มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปกองทัพ


       จึงน่าจะชัดเจนว่า ตราบใดที่กองทัพ ไม่อยู่ภายใต้ประชาธิปไตย  ตราบใดที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ ถ่วงดุล ทั้งงบประมาณและกำลังพล  ตราบใดที่ทหารไม่ถูกจัดอยู่ในกรอบมืออาชีพ และตราบใดที่กองทัพยังไม่ปลูกฝังวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่ได้ ตราบนั้น การปฏิรูป ก็ยังไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ และการเมืองไทย ก็จะอยู่ในวงจรเดิมๆ ต่อไป


ดูคลิป รายการเสียงประชาชน ตอน "อย่าลืมปฏิรูปกองทัพ"


ไม่มีความคิดเห็น :