วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ประมวลท่าทีสื่อวิเคราะห์ผู้ก่อเหตุระเบิดราชประสงค์ พบบางสำนักพยายามเชื่อมโยงเอี่ยวการเมือง ต่างจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ









แม้การสืบสาวไปถึงผู้ก่อเหตุและผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์จะอยู่ในขั้นตอนของการสืบหาพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประมวลความเชื่อมโยง หาตัวผู้ก่อเหตุ  แต่ท่าทีสื่อไทยหลายสำนัก ได้นำเสนอไปในทำนองว่า รู้ตัวผู้อยู่เบื้องหลังและผู้ก่อเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว

โดยเฉพาะสื่อ ที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย อย่าง “ไทยโพสต์” ที่พาดหัวข่าวไปในทำนองว่า น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มอำนาจเก่า หรือผู้เสียผลประโยชน์กลุ่มเดิมๆที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ตามการออกมาให้ความเห็นของทีมโฆษกรัฐบาลและโฆษกกองทัพ

ขณะที่สื่อไทยอีกหลายสำนักได้พาดหัวข่าวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ที่พาดหัวข่าวว่า “บึ้มถล่มกรุง 16 ศพ ภาพวงจรปิดพบผู้ต้องสงสัยคล้ายแขกขาว-อุยกูร์ นั่งรถตุ๊กตุ๊กไปในที่เกิดเหตุ แต่เมื่อพบตำรวจ ก็สั่งให้ตุ๊กตุ๊กขับวนออกไป และกลับมาอีกครั้งพร้อมถุงพลาสติก ก่อนเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ศาลพระพรหม

ขณะที่หนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ก็รายงานในทำนองเดียวกันว่า จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของตำรวจ พบผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวต่างชาติ ลักษณะคล้ายแขกขาว สวมเสื้อเหลือง กางเกงขาสั้น สะพายเป้สีน้ำเงิน และนำไปวางไว้ในที่เกิดเหตุ ก่อนระเบิดเพียง 1 นาที ซึ่งขณะนี้ตำรวจมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดหมดแล้ว

ทิศทางการรายงานของสื่อไทย 2 ฉบับ สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวด้านการทูตและการทหารของ BBC

ขณะเดียวกัน ศาลพระพรหมเอราวัณ สถานที่เกิดเหตุ ก็เป็นสถานที่ยอดนิยามของชาวจีน จึงอาจเป็นเป้าหมายของผู้ก่อเหตุได้  แต่ถึงอย่างไร การเคลื่อนไหวของกลุ่มอุยกูร์นอกประเทศจีนก็ไม่เคยมีเหตุรุนแรงเช่นกัน
ส่วนประเด็นข้อสงสัยอื่นๆ ดูเหมือนว่าโจนาธาน มาร์คัส จะให้น้ำหนักน้อยลงไป โดยวิเคราะห์ว่า ก่อนหน้านี้ ไม่มีเหตุการณ์การโจมตีครั้งใหญ่ในกรุงเทพ  ไม่เคยมีเป้าหมายในการโจมตีที่มุ่งให้เกิดการเสียชีวิตรุนแรง แต่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ อาจเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย แต่ที่ผ่านมากลุ่มนี้ก็ไม่เคยใช้กรุงเทพฯเป็นเป้าหมายมาก่อน

ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ที่ผ่านมามีเพียงการก่อเหตุระเบิดเล็กๆน้อยๆเพื่อสร้างสถานการณ์เท่านั้น ไม่เคยมีความรุนแรงแบบนี้ และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เหตุการณ์นี้ จะเชื่อมโยงไปหากลุ่มหัวรุนแรง กับกลุ่มที่เรียกร้องรัฐอิสลาม อย่างกลุ่มไอเอส

จะเห็นได้ว่า การเสนอข่าวของสื่อมวลชน มีส่วนสำคัญในการชี้นำกระแสสังคม หรือ การทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงไม่ควรใช้ความรู้สึกหรือทัศนคติทางการเมืองด่วนสรุป ทั้งที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง  แต่ควรเสนอไปตามพยานหลักฐาน และการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับกรณีคาร์บอมห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ผู้บริหารด้านความมั่นคงหลายคนรีบสรุปทันทีว่าเป็นฝีมือของฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มอำนาจเก่า โดยเฉพาะการเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปเปิดงานรำลึกวีรชน  แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายกลับไม่พบว่ามีส่วนใดเชื่อมโยงใดๆกับฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มอำนาจเก่า

จึงเป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายใช้สติ และควรรอการตรวจพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ ดีกว่าใช้กรณีความสูญเสียของประชาชน มาเป็นประเด็นทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมือง

กองบรรณาธิการข่าว TV24  สถานีประชาชน






กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แจ้งสิทธิ์ พร้อมรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายในพื้นที่ 4 จุด

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แจ้งสิทธิ์ พร้อมรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายจากเหตุการณ์ระเบิดแยกราชประสงค์ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ในพื้นที่ 4 จุด ดั้งนี้

 จุดที่ 1 สน.ลุมพินี ผู้ประสาน คุณปรักมาศ 0851366454

จุดที่ 2 โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ประสาน คุณณัฐพล 0812577571

จุดที่ 3 โรงพยาบาลจุฬา ผู้ประสาน คุณนุชนารถ 0859356662

จุดที่ 4 นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ คุณธปภัค 0819090614


รวมมุมมองการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เหตุระเบิดราชประสงค์ ในรอบวันที่ 18 ส.ค. 58


โดยคุณตวงพร อัศววิไล Voice TV

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
09:40 - 18 ส.ค. 2558 มีการร่วมไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดภายในเขตอุตสาหกรรมเทียนจิน เสียชีวิต 114 ราย สูญหาย 70 via@XHNews




-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

09:38 - 18 ส.ค. 2558 Straits Times รายงานมีหญิงชาวสิงคโปร์ 1 รายเสียชีวิตจากเหตุระเบิดราชประสงค์ straitstimes.com/asia/se-asia/b

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

09:08 - 18 ส.ค. 2558 บทวิเคราะห์ BBC ยกประเด็นไทยส่งมุสลิมอุยกูร์ให้กับจีน ทำให้ไทยถูกประณามเพราะอุยกูร์เป็นชนกลุ่มน้อยต่างศาสนา-วัฒนธรรม bbc.com/news/world-asi

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


08:43 - 18 ส.ค. 2558 บีบีซีรายงานอ้างพล.อ.ประวิตรระบุ ผู้ก่อเหตุมีเป้าหมายที่"ชาวต่างชาติ" ต้องการทำลายภาพลักษณ์ด้านท่องเที่ยว-เศรษฐกิจไทย bbc.com/news/world-asi

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

08:29 - 18 ส.ค. 2558 สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองฮ่องกง ระบุ มีชาวฮ่องกงที่พำนักในไทยเสียชีวิต 2 รายจากเหตุระเบิดราชประสงค์ via @XHNews

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
07:57 - 18 ส.ค. 2558  ซินหัว:มีนทท.จีน เสียชีวิตจากระเบิดราชประสงค์ 3 ราย ขณะสหภาพยุโรปแสดงค.เสียใจต่อครอบครัวเหยื่อ xhne.ws/DZTsL

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

07:51 - 18 ส.ค. 2558 CNNอ้างแพทย์ตร.ระบุผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น20 ราย ตายในที่เกิดเหตุ12 เสียชีวิตที่รพ.8 บาดเจ็บ123 cnn.it/1MtA2gR.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
01:39 - 18 ส.ค. 2558 BBC ให้น้ำหนักเหตุระเบิดกับกรณีรัฐบาลส่งมุสลิมอุยกูร์ 100 คนกลับไปจีนและตั้งข้อสังเกตุศาลพระพรหมเป็นที่เคารพของชาวจีน bbc.com/news/world-asi

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


01:36 - 18 ส.ค. 2558 บีบีซี ประเมินว่าความขัดแย้งทางการเมือง หากจะสร้างสถานการณ์ก็ใช้ระเบิดที่ไม่รุนแรงมาก ส่วนกรณี ISมีน้ำหนักน้อย bbc.com/news/world-asi

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
01:34 - 18 ส.ค. 2558 บีบีซีวิเคราะห์ว่าไม่เคยเกิดระเบิดรุนแรงเช่นนี้ในกทม.มาก่อน แม้เเหตุไม่สงบใน 3 จว.ชายแดนใต้ก็ไม่มีเป้าหมายที่กรุงเทพ bbc.com/news/world-asi

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

01:30 - 18 ส.ค. 2558 บีบีซีรายงานอ้างตำรวจไทยว่าเป็นระเบิดTNT หนัก 3 กก.บรรจุอยู่ในท่อแป๊บวางไว้ในศาลพระพรหมเอราวัณ จุดระเบิดด้วยวงจรไฟฟ้า bbc.com/news/world-asi
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

01:14 - 18 ส.ค. 2558  BBCอ้าง รมว.กลาโหมชี้ผู้ก่อเหตุเน้นกลุ่มเป้าหมาย"ชาวต่างชาติ"จะไล่ล่าตัวมาดำเนินคดีเร็วที่สุด bbc.in/1Mx6W1L
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

00:22 - 18 ส.ค. 2558 ซินหัวรายงานผู่เสียชีวิตเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ ตาย 16 เป็นนักท่องเที่ยวจีน 2 ราย via @XHNews xhne.ws/nryUY

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ผบ.ตร.ประชุมเหตุระเบิดแยกราชประสงค์



ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคาดระเบิดที่ใช้ก่อเหตุเป็นแบบตั้งเวลา เจ้าหน้าที่เร่งหาเบาะแสเกี่ยวกับตัวผู้ก่อเหตุ ยังไม่พบความเชื่อมโยงจากการณีประเทศไทยส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ไปประเทศจีน


(09.05 น.) พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ   แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ  ตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ประชุมศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปก.พร้อมประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอรเรนซ์เพื่อรายงานต่อหน่วยงานความมั่นคง สรุปสถานการณ์เหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อคืนที่ผ่านมา


โดยในที่ประชุมมีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตขณะนี้จำนวน 20 คน แบ่งเป็นคนไทย 5 คน /  ชาวจีน 2คน / ฮ่องกง 2 คน / มาเลเซีย 2 คน / สิงคโปร์ 1 คน / ยังไม่ทราบสัญชาติอีก 8 คน (เป็นชาย 2 หญิง 5 เด็กหญิง 1) ขณะที่มีผู้บาดเจ็บ 125 คน แบ่งเป็นชาวจีน 28 / มาเลเซีย 2 คน /  ฮ่องกง 2 คน / ไทย 42 คน / ญี่ปุ่น 1 คน /  สิงคโปร์ คน / อินโดนีเซีย 1 คน / ฟิลิปินส์ 1 คน / โอมาน 1 คน / มัลดีฟ 1 คน และยังไม่ทราบสัญชาติอีก 43 คน


พลตำรวจเอกสมยศ กล่าวก่อนการประชุมว่า จากการไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบเป็นระเบิดชนิดรุนแรง คนร้ายมีเจตนามุ่งหวังเอาชีวิตอย่างชัดเจน อยู่ระหว่างเร่งหาเบาะแสเกี่ยวกับตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งไม่ทิ้งร่องรอยหรือพยานหลักฐานใด ส่วนประเด็นการก่อเหตุยังไม่สามารถตัดประเด็นใดทิ้งได้ ขอเวลาตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่วนกรณีมีกระแสข่าวการก่อเหตุครั้งนี้มีเป้าหมายเป็นชาวจีน จากประเด็นที่ไทยส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ไปให้ประเทศจีนนั้นยังไม่พบความเชื่อมโยง เพราะผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ได้มีเฉพาะชาวจีนเท่านั้น


ทั้งนี้มีรายงานจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ว่า วัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุครั้งนี้ เป็นได้ทั้งชนิดทีเอ็นที หรือซีโฟร์ เป็นระเบิดที่ทำงานสมบูรณ์แบบ โดยไม่ทิ้งร่องรอยหลักฐาน ที่เกิดเหตุยังพบลูกปลายลักษณะกลมคล้ายลูกปืนรถจักรยานมีความกว้าง 0.6 มม.เป็นส่วนประกอบระเบิด ส่วนระเบิดมีน้ำหนัก 3-5 ปอนด์  พร้อมสันนิษฐานว่า ระเบิดน่าจะประกอบจากต่างประเทศ  ส่วนการจุดชนวนคาดว่าเป็นการตั้งเวลาไว้

ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

"เพื่อไทย" แนะ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หวั่นทำประเทศเสียหาย





นายสามารถ แก้วมีชัย พร้อมด้วย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ และร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงจุดยืนของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

โดยนายสามารถ ได้กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้มีอำนาจอื่น นอกจากอำนาจของประชาชนมาครอบงำประเทศ โดยทางพรรคเพื่อไทยยังมีข้อกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ทั้งเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และการกีดกันบุคคลากรทางการเมือง


ส่วนเรื่องคณะกรรมการยุทธศาตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาตินั้น เป็นเสมือนรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งนายสามารถ ระบุว่าถ้าจะเป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เหตุใดต้องมีการครอบงำด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าไม่ไว้ใจประชาชน



ขณะที่การลงประชามติ นายสามารถ ได้แสดงความเป็นห่วง เพราะร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาเหมือนไม่ต้องการให้ผ่านประชามติ ซึ่งถ้าไม่ผ่าน ประเทศไทยก็จะเสียโอกาส โดยขณะนี้จะมองแต่มิติความมั่นคงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงสายตาของต่างชาติด้วย หากบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ซึ่งเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากมองแค่บางมิติคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการความปรองดอง แต่เขียนรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะของการไล่ล่ากัน ซึ่งไม่สะท้อนความต้องการที่จะปรองดอง

นอกจากนนี้ นายสามารถ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมีคนสร้างวิกฤติเพื่อไม่ให้กลไกปกติตามระบอบประชาธิปไตยทำงานได้ และแสดงความเป็นห่วงเรื่องคณะกรรมาการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะเป็นการทำให้มีคนสร้างวิกฤติ เพื่อจะหานายกคนนอก หาคณะพิเศษมาบริหารประเทศ หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขียนอย่างนี้ จะไม่ผ่านประชามติอย่างแน่นอน เพราะประชาชนรับไม่ได้

ส่วนกรณีที่ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องปกติในฐานะคนไทยที่สามารถทำได้ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ ในแวดวงวิชาการ ก็ต้องอออกมาวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน





ทวีศักดิ์ เห็นครบ / TV24 สถานีประชาชน ...รายงาน...

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ที่จังหวัดนครพนม น้ำโขงเข้าขั้นวิกฤติ ได้ทะลักหนุนลำน้ำสงครามเอ่อล้นท่วมครัวเรือนจนชาวบ้านต้องเร่งเก็บสิ่งของ และอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง


เร่งอพยพวัวควายหนี น้ำโขงล้นตลิ่ง 





ที่จังหวัดนครพนม ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ ประมาณ 11.50  เมตร  ห่างจากจุดวิกฤติประมาณ 50 เซนติเมตร  เริ่มส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาสายหลัก คือ ลำน้ำสงคราม  ที่รองรับลำน้ำอูน มาจากพื้นที่ จังหวัดสกลนคร  ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง  เนื่องจากระดับน้ำโขงสูง ทำให้ลำน้ำสงครามไม่สามารถไหลระบายลงสู่น้ำโขงได้
 ล่าสุดได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่เสี่ยง ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก คือ  พื้นที่บ้านท่าบ่อ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม  ทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านถูกน้ำท่วมขัง นับ 10 หลัง ต้องเร่งจัดเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง  และใช้เรือในการสัญจรไปมา  สร้างความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัย รวมถึงห้องน้ำห้องส้วม

โดยพื้นที่บ้านท่าบ่อ หมู่ 4 และ หมู่ 6 ตำบลท่าบ่อสงคราม มีบ้านเรือน เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม  กว่า 300 หลัง รวมถึงพื้นที่นาข้าว หากระดับน้ำสงคราม เอ่อล้น  โดยทางจังหวัดนครพนม ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบดูแล ช่วยเหลือเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างพากันวิตกกังวล หลังมีฝนตกต่อเนื่อง บวกกับปริมาณน้ำโขงจ่อจุดวิกฤติ  ซึ่งชาวบ้านต่างพากันเคลื่อนย้าย จัดเก็บสิ่งของ ขึ้นบนชั้นสองของบ้าน และนำไปฝากไว้บ้านญาติ ที่ไม่ประสบปัญหา นอกจากนี้ยังพากันอพยพ สัตว์เลี้ยงการเกษตร  เช่น  เป็ด ไก่ หมู  รวมถึง โค กระบือ ไปทำคอกขังไว้ที่สูง  อย่างไรก็ตาม เริ่มได้รับผลกระทบเรื่องอาหารสัตว์  ขาดแคลนหญ้า  เพราะพื้นที่ ตำบลท่าบ่อสงคราม ถือเป็นพื้นที่ ที่มีกระบือจำนวนมาก เฉพาะหมู่บ้านท่าบ่อ มีมากนับ 500 ตัว

ด้าน นายวรพล  โพธิ์สุ  เกษตรกรชาวบ้านท่าบ่อ หมู่ 4  กล่าวว่า  ในช่วงนี้เริ่มประสบปัญหาความเดือดร้อน  หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ลำน้ำสงครามเอล้นตลิ่ง  ทะลักท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านริมแม่น้ำสงครามบางส่วน  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องของสัตว์เลี้ยง  เป็ด ไก่ หมู  วัว ควาย   ต้องอพยพไปทำคอกชั่วคราวไว้ที่สูง สิ่งที่ตามมาคือ กลัวถูก ลักขโมย ต้องอยู่เวรยาม รวมถึงปัญหาขาดแคลนหญ้า อาหารสัตว์  ต้องรอภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือ

รู้หรือไม่ ไทยมีอาณาเขตติดกับอินเดีย ห่างกันเท่ากรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด

เฟซบุ๊คของคุณ Piyanat Soikham  นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความล่าสุดว่า






ไทยมีอาณาเขตติดกับอินเดีย...เวลาที่พูดถึงประเทศเพื่อนบ้าน เรามักจะท่องจำว่า ประเทศไทยมีพรมแดนทางตอนเหนือและตะวันตกติดกับพม่า ทางตะวันออกติดกับลาวและกัมพูชา ทางตอนใต้ติดกับมาเลเซีย .... การใช้เพียงเขตแดนทางบกเพื่อชี้วัดสถานะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยเพิกเฉยต่อการมองเห็น "อินเดีย" ในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง .... ซี่งหากนับพรมแดนทางทะเล จะพบว่ามีจุดสามเหลี่ยมน่านน้ำที่ตัดกันสามประเทศ เพื่อเชื่อมพรมแดนของไทย อินโดนีเซีย และ อินเดีย ณ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเชิงดินแดน จะพบว่า จุดอินธิรา (Indira Point) บนหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ของอินเดีย อยู่ห่างจาก แหลมพรมเทพ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เพียง 516 กิโลเมตรเท่านั้น ... ซี่งใกล้กว่ากรุงเทพไปเชียงใหม่ (696 กม.) ใกล้กว่ากรุงเทพไปยะลา (1084 กม.) ซี่งระยะทางดังกล่าวเทียบเท่ากับการเดินทางจากกรุงเทพ ไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด.......อินเดียและไทย นอกจากจะไม่ไกลกันแล้ว ยังเป็นเพื่อนบ้านกันอีกด้วย ...... ช่วงนี้ก็กำลังจะเปิดภาคเรียนมหาวิทยาลัย หวังว่าเราจะได้ต้อนรับเพื่อนใหม่อย่างอินเดียนะครับ (ปล.เกี่ยวอะไรกันว๊า ฮ่าๆ)

นอกจากนี้คุณ  Piyanat Soikham  ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า จริงๆต้องเพิ่มเติมว่า ด้วยพรมแดนทางทะเลนี่แหละ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การค้า หรือความมั่นคง ระหว่างไทยและอินเดียเกิดขึ้นมาอย่างช้านาน จริงๆผมก็กำลังสงสัยว่า เรามีความคิดเรื่องพรมแดน โดยเฉพาะที่เน้นเฉพาะพรมแดนทางบกตั้งแต่เมื่อไร และเมื่อความคิดเรื่องพรมแดนทางบกนี้ที่เข้มาหรือเปล่า ทำให้ความสำคัญของการเชื่อมต่อผ่านมหาสมุทรลดน้อยลงไป

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สภาเกษตรกรเสนอ ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบคัดแยกคุณภาพของข้าวที่เสื่อมสภาพ รวมทั้งเข้ามีส่วนร่วมในการประมูลขายข้าว เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างโปร่งใส

                

              นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะ เป็นตัวแทนเกษตรกรในการหารือร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ ถึงแนวทางตรวจสอบคัดแยกคุณภาพข้าวในโกดังต่างๆ ทั่วประเทศที่เสื่อมสภาพ เพื่อการกำหนดแนวทางจัดประมูลข้าวเสื่อมสภาพอย่างเหมาะสม หลังจากมีกระแสสังคมแสดงความกังวลใจว่ารัฐจะได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้   เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องรับรอง ๔ ชั้น ๑๗ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

             นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าว่าการหารือร่วมกันในครั้งนี้ เห็นว่าควรมีการดำเนินการนำร่อง เพื่อเรียนรู้การตรวจสอบคัดแยกคุณภาพข้าวที่เสื่อมสภาพ และแนวทางการประมูลขายข้าวอย่างเหมาะสม ว่าข้าวในโกดังเป็นข้าวสำหรับบริโภคได้ ใช้ทำอาหารสัตว์ สำหรับผลิตเอธานอล เป็นเชื้อเพลิง หรือเสื่อมสภาพโดยสิ้นเชิง โดยคัดเลือกจังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดเป้าหมาย เพื่อนำร่องศึกษาดำเนินการในต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘  ซึ่งในมุมของเกษตรกรที่หารือกับรัฐนอกจากการจัดการข้าวที่มีอยู่ในโกดังอย่างไรให้รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ของเกษตรกร  เป็นสำคัญสูงสุดแล้ว ยังคิดไปถึงว่ารัฐจะจัดการข้าวเหล่านี้อย่างไรไม่ให้มีผลกระทบกับราคาผลผลิตข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2558 นี้

              ภายหลังการหารือประธานสภาเกษตรแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือให้ข้อคิดเห็นถึงแนวทางดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยประเด็นความเห็นที่สภาเกษตรกรแห่งชาติยึดมั่นมาตลอดคือการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการกำหนดนโยบายและการวางแผนการพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อให้รัฐรักษาเสถียรภาพด้านราคาและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร  จึงเห็นว่าจังหวัดใดที่มีโกดังเก็บข้าวควรให้สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นตัวแทนของเกษตรกรมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบคัดแยกคุณภาพของข้าวที่เสื่อมสภาพ รวมทั้งเข้ามีส่วนร่วมในการประมูลขายข้าวดังกล่าว เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างโปร่งใส โดย  กระทรวงพาณิชย์ควรฝึกอบรมความรู้ด้านเทคนิควิธีการตรวจสอบคัดแยกคุณภาพข้าวให้ตัวแทนเกษตรกรก่อนดำเนินการ         

               ในส่วนของราคาข้าวในปีการผลิต ปี ๒๕๕๘ นี้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เสนอให้รัฐสำรวจข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตของประเทศผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งกับประเทศไทย เช่น เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือปัญหาน้ำท่วม เป็นข้อมูลประกอบการแนะนำส่งเสริมเพื่อวางแผนการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรของประเทศ ต่อไป

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

TDRI ชี้ ไทยกำลังสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับเพื่อนบ้านที่ไทยเคยเหนือกว่า ระบุ ปัญหาอยู่ที่นักลงทุนต่างชาติมองดูเราแล้วจะอยากเข้ามาหรือเปล่า


       หรือเราจะไม่ดึงดูดการลงทุน จากต่างชาติอีกต่อไป?

       ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสในการเจรจา Trans-Pacific Partnership (TPP) กับประเทศคู่ค้าอีก 11 ประเทศ รวมถึงประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน  ซึ่งคาดว่าผลของการเจรจาจะครอบคลุมประมาณ 40ของมูลค่าการค้าโลก และอีกเรื่องคือการมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการหาช่องทางการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยนำนักธุรกิจกลุ่มทุนและนวัตกรรมใหญ่อย่าง Airbus, Rolls-Royce, JCB และ Lloyds มาด้วย ซึ่งนายกคาเมรอนมีกำหนดการเยือน 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย และคาดว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้ามูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

       นับเป็นข่าวดีสำหรับอาเซียน แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศไทยที่ตกขบวนโอกาสทางการค้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางข่าวร้ายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งการย้ายฐานการผลิตของซัมซุง การปิดตัวลงของกิจการจำนวนมาก ความผันผวนของตลาดหุ้น และฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ การถูกมหาอำนาจในเวทีโลกอย่างสหรัฐและอังกฤษเมินอย่างจังจึงเป็นเหมือนสัญญาณว่า วิกฤตินี้จะแก้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ยาก เพราะประเทศไทยอาจไม่น่าดึงดูดในสายตาประเทศคู่ค้าอีกต่อไป

       รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2015 ซึ่งจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 61 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ASEAN 5 หรือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก็ระบุว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยตกลงมาจากอันดับที่ 27 ในปี 2556 มาอยู่อันดับที่ 30 ในปี 2558  โดยอยู่ตรงกลางของตารางและเป็นอันดับสามของอาเซียน ดังที่เป็นมาหลายปีแล้ว

       แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า มีดัชนีหลายตัวที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศอาเซียนอีก 4 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นดัชนีที่มีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความน่าดึงดูดต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

-     ความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่อการย้ายฐานการผลิต (Relocation Threats of Production) อันดับที่ 53
-     ผลิตภาพบริษัท (Productivity of Companies) อันดับที่ 33
-     ผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Productivity & Efficiency of Small and Medium Size Enterprises) อันดับที่ 53
-     จำนวนแรงงานฝีมือที่มีอยู่ในตลาด (Availability of Skilled Labor) อันดับที่ 46
-     ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของคนในประเทศต่อความท้าทายใหม่ (Flexibility and Adaptability of People when Faced with New Challenges) อันดับที่ 40
-     ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships Supports Technological Development) อันดับที่ 35
-     ความสามารถในการผลิตนวัตกรรม (Innovative Capacity) อันดับที่ 51
-     ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ วัดจากผลการสอบโทเฟล (English Proficiency - TOEFL) อันดับที่ 57
-     ทักษะด้านภาษาที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ (Language Skills Meets the Needs of Enterprises) อันดับที่ 53
-     ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขัน (Educational System Meet the Needs of a Competitive Economy) อันดับที่ 46

       ดัชนีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเคยเหนือกว่ามาตลอดอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมแล้วไทยจะยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่า แต่ยังมีดัชนีอีกหลายตัวที่แม้ไทยจะไม่ได้ที่โหล่ แต่ก็ถูกฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียหายใจรดต้นคอเตรียมเบียดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เช่น ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ที่ไทยอยู่อันดับที่ 56 นั้น อินโดนีเซียตามมาที่อันดับ 59 และฟิลิปปินส์ที่ 60  และระดับการปรับตัวของนโยบายรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Adaptability of Government Policy to Changes in the Economy) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ตามอยู่ที่ 35 ส่วนอินโดนีเซียนั้นก้าวไปอันดับที่ 21 แล้ว

       ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะรายงาน IMD ฉบับเดียวกันจัดอันดับความน่าดึงดูดของมาตรการส่งเสริมการลงทุน (Investment Incentive Attractive to Foreign Investors) ไว้สูงถึงอันดับที่ 20 พูดง่าย ๆ ว่าเราพร้อมจะให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไม่แพ้ใครหากต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่เขามองดูเราแล้วจะอยากเข้ามารึเปล่าต่างหาก การถูกประเทศที่มีทุนใหญ่อย่างสหรัฐและอังกฤษมองข้ามไปนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงตนเอง เช่น ทำอย่างไรให้เรามีความสามารถในการผลิตนวัตกรรม ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และยกระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นต้น

       มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายที่จะทำเสร็จในวันเดียว แต่ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ก็น่าคิดว่าไทยอาจจะต้องเห็นประเทศอาเซียนอื่นอย่างอินโดนีเซียซึ่งมีศักยภาพในการเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาดขนาดใหญ่ และฟิลิปปินส์ซึ่งมีความพร้อมด้านกำลังแรงงานทักษะแซงหน้าไป ยังไม่นับเวียดนามซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในการสำรวจของ IMDแต่ก็คาดว่าจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในสายตามหาอำนาจขนาดที่ประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรีคาเมรอนต้องเดินทางมาจีบด้วยตัวเอง.

 โดย ดร. บุญวรา สุมะโน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)