วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คำแถลงการณ์ปิดสำนวนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรณีถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง



กราบเรียนท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระผม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา  ขอแถลงการณ์ปิดสำนวนต่อที่ประชุมสภาแห่งนี้ ตามที่กระผมจะได้เรียนชี้แจงดังต่อไปนี้

วันนี้กระผมได้มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่จะมาพูดจาทำความเข้าใจต่อเรื่องที่ถูกกล่าวหาในวาระของการพิจารณาคดีของสภาแห่งนี้ ซึ่งเรียกว่าการแถลงการณ์ปิดสำนวน ซึ่งก่อนหน้านี้สภาได้มีนัดพิจารณาในวาระของการตอบคำถามจากคณะกรรมาธิการซักถาม ทำให้หลายท่านอาจมีความข้องใจว่าเพราะเหตุใดกระผมจึงมิได้ใช้โอกาสในนัดพิจารณาดังกล่าวเพื่อตอบคำถามของคณะกรรมาธิการซักถาม  กระผมก็อยากจะชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งนอกเหนือจากการที่กระผมได้ทำหนังสือลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ถึงประธานสภาฯ แจ้งเหตุผลที่กระผมไม่ได้มาตอบคำถามของคณะกรรมาธิการซักถาม

ท่านประธานที่เคารพ  กระผมอยากจะกราบเรียนชี้แจงว่า ในประเด็นของข้อคำถามของกรรมาธิการซักถามเป็นที่เข้าใจได้ว่า คำถามต่างๆ ถูกกำหนดโดยข้อบังคับของการประชุมสภาแห่งนี้ว่า “ให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก...” ซึ่งข้อกำหนดในสภาแห่งนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักเช่นเดียวกัน และที่ประชุมแห่งนี้ก็ได้ทราบแล้วว่ากระผมถูกกล่าวหาพร้อมกับผู้อื่นอีกจำนวน 20 ราย เป็นจำเลยในคดีอาญาในเวลาเดียวกันกับที่สภาแห่งนี้ดำเนินคดีถอดถอนเอากับพวกกระผม

เพราะคำถามใดๆ ที่ปรากฏในสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาในชั้นศาลต่อไป  ซึ่งคำถามที่กรรมาธิการซักถามกระผมรวม 8 คำถาม ก็เห็นได้ว่าคำถามของกรรมาธิการย่อมมีข้อเท็จจริงในขั้นตอน  กระบวนการ  และวิธีการที่ไปพาดพิงกับบุคคลที่สามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ หรือฝ่ายเอกชนที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญาพร้อมกันกับกระผมชัดเจน
ดังนั้น การตอบคำถามใดๆ นั้น กระผมไม่อาจไปละเมิดสิทธิหรือก้าวล่วงข้อเท็จจริงของบุคคลอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการตอบข้อซักถาม อันเป็นเหตุให้รูปคดีของบุคคลที่สามนอกเหนือจากตัวกระผมได้รับความเสียหายในการต่อสู้คดี จึงเป็นเหตุและข้อจำกัดที่กระผมได้ชี้แจงตามหนังสือดังกล่าวว่ากระผมขออนุญาตที่จะไม่มาตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการซักถามในสภาแห่งนี้ จึงเรียนมาเพื่อทำความเข้าใจต่อสภาแห่งนี้ ว่ากระผมมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบข้อซักถามใดๆ โดยไม่มีเหตุอันควร

ท่านประธานที่เคารพ ทุกข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.และข้อซักถามจากคณะกรรมาธิการ ผมขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตามรัฐธรรมนูญ  กฎหมาย  นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา  มติคณะรัฐมนตรี  และที่สำคัญคือประโยชน์ของทางราชการ และประชาชนที่เป็นเกษตรกรจะได้รับการปฏิบัติจากกระผมด้วยความถูกต้อง

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะยืนยันเช่นนี้ตลอดชีวิต เพราะกระผมมาจากพี่น้องประชาชน ผมเป็นผู้แทนราษฎรมา 14 ปี เป็นรัฐมนตรีมา 2 กระทรวง ท่านกำลังกล่าวหาว่าผมทุจริต ท่านกำลังกล่าวหาว่าผมทรยศต่อประชาชน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเด็ดขาด

คุณวิชา มหาคุณขออนุญาตที่เอ่ยนามผู้แทนผู้กล่าวหา  ซึ่งดูเหมือนจะถนัดใช้ “วาทกรรม” ยิ่งกว่าผู้แทนราษฎรในสภา กล่าวหากระผมในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่ากระผมได้ร่วมกับผู้อื่นใช้เล่ห์กระเท่ในทางการเมืองและการค้าหรือสวมรอยหรือการอุปโลกให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐโดยไม่มีอยู่ในความเป็นจริงแต่อย่างใด  ข้อกล่าวหานี้ในทางการเมืองถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง

ท่านประธานที่เคารพ “การดำเนินกระบวนการรวมทั้งขั้นตอนและวิธีการในการระบายข้าวไม่สามารถใช้เล่ห์กระเท่ หรืออุปโลกใดๆ หรือสวมรอยใดๆ ตามที่ผู้แทนผู้กล่าวหาได้กล่าวในที่ประชุมสภาแห่งนี้เนื่องจากการดำเนินการระบายข้าวมีองค์ประกอบการทำงานทั้งขั้นตอนของการปฏิบัติในฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายนโยบาย คือ ตัวกระผมในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ทั้งสองฝ่ายมีกรอบการทำงานมีขั้นตอนและวิธีการทั้งที่ได้เคยปฏิบัติมาก่อนรัฐบาลนี้ และกรอบการทำหน้าที่อันได้ถูกกำหนดขึ้นจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ


กระผมได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาแห่งนี้ว่า แนวทางปฏิบัติในการระบายข้าวแบบจีทูจีเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์เดิมเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา อีกทั้งคณะบุคคลที่เป็นผู้ปฏิบัติ ได้แก่คณะอนุกรรมการระบายข้าวในส่วนข้าราชการประจำล้วนมีองค์ประกอบเดิม ผู้แทนจากหน่วยงานเดิม เป็นบุคคลเดิมที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทั้งสิ้นซึ่งประกอบไปด้วย



1. ปลัดกระทรวงพาณิชย์
2. ผู้แทนกระทรวงการคลัง
3. อธิบดีกรมการค้าภายใน
4. ผู้แทนคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า
5. ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
6. ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
7. อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
8. ผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ
ซึ่งกระผมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะทำงานและตัวบุคคลแต่อย่างใด กระผมทำมาตรฐานเดียวกันกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่การตรวจสอบของป.ป.ช.ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการนี้กำลังทำสองมาตรฐาน  กรณีเดียวกันรัฐบาลชุดก่อนทำถูก แต่รัฐบาลที่ผมร่วมคณะรัฐมนตรี กลับกล่าวหาว่าผิด

สำหรับประเด็นที่ท่านกล่าวหาว่าเป็น G to G เก๊ หรือลวงโลก กระผมขอชี้แจงยืนยันว่า เป็นการทำสัญญาแบบ G to G จริง ไม่ใช่ G to G เก๊ ตามที่ ผู้กล่าวหาสร้างวาทกรรมบิดเบือนมาตลอด จนทำให้คนเข้าใจผิดทั้งประเทศ

ผู้ซื้อทั้งสองรายคือ บริษัท GSSG และ HAINAN นั้น ผมขอยืนยันว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริง เช่นเดียวกับ COFCO เพราะทั้งสองรายเป็นรัฐวิสาหกิจจีน 100% และมีวัตถุประสงค์ในการค้าขายสินค้าเกษตร เมื่อ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า เป็น G to G เก๊ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า GSSG ได้ส่งหนังสือชี้แจงถึง ป.ป.ช. ยืนยันว่า เป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริง

สำหรับการระบายข้าวโดยวิธีการขายข้าวแบบ G to G นั้น ผมขอย้ำว่า รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ได้พยายามระบายข้าวทุกวิธีการ ไม่ได้มุ่งขายข้าวแบบ G to G เพียงอย่างเดียว แต่มีการระบายข้าวด้วยวิธีต่างๆ ทุกวิธีการ ทั้งการขายเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อการส่งออกและ/หรือจำหน่ายภายในประเทศ ด้วยวิธีการประมูล ผ่าน AFET การขายให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการบริจาคข้าวให้แก่ประเทศต่างๆ ที่ได้รับภัยพิบัติ

เหตุที่มีการขายข้าวแบบ G to G มากกว่าแบบอื่นๆ ก็เพราะว่า ในขณะนั้นมีสต็อกข้าวเก่าคงค้างจากรัฐบาลก่อนหลายล้านตัน และมีข้าวใหม่ที่กำลังเข้ามาจากการรับจำนำอีกหลายล้านตัน  รัฐบาลจึงจำเป็นที่ต้องเร่งระบายข้าวให้ได้ปริมาณที่มาก และให้มีความมั่นใจว่าจะได้รับการชำระเงินจากการระบายอย่างแน่นอน

ส่วนการขายแบบอื่นๆ รวมทั้งการขายให้เอกชนผู้ส่งออก กระผมก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน แต่ว่าในขณะนั้นการขายให้เอกชนมีปัญหาอยู่บ้าง เป็นเพราะขายได้ในจำนวนน้อย

สำหรับเหตุผลที่ขายแบบ Ex-warehouse หรือขายหน้าโกดังสินค้า โดยให้ผู้ซื้อมารับมอบสินค้าที่หน้าโกดัง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์สูงสุดของรัฐบาลในขณะนั้น เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องรับภาระหนักเรื่องการปรับปรุงคุณภาพข้าว เรื่องการขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าระวางเรือ ค่าพิธีการส่งออก เป็นต้น ซึ่งเป็นการผลักภาระทั้งหมดไปอยู่กับฝ่ายผู้ซื้อ รัฐบาลไม่ได้ต้องการที่จะเปิดช่องให้มีการทุจริตแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นการปิดช่องทางทุจริตในขั้นตอนเหล่านี้  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เทียบเคียงกับการขายสินค้าเกษตรอื่น เช่น การระบายมันสำปะหลัง ของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เป็นการขายแบบ Ex-warehouse เช่นกัน


สำหรับการชำระราคาข้าว ซึ่งได้มีการตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้ 3 วิธี การชำระด้วยแคชเชียร์เช็ค เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขายมากที่สุด เพราะผู้ซื้อต้องชำระเงินก่อนได้รับมอบสินค้า ไม่มีการติดค้าง ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้รับเงินจากการระบายครบถ้วน เป็นการป้องกันการเบี้ยวชำระเงินจากผู้ซื้อ


ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ผมมีความมั่นใจ ก็เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของหน่วยงานจีน โดยในกรณีที่กล่าวหานี้คณะกรรมการควบคุมและบริหารทรัพย์สินแห่งรัฐบาลประชาชนมณฑลกวางตุ้งได้มีหนังสือยืนยันว่า บริษัท GSSG เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนจริง และคณะกรรมการควบคุมและบริหารทรัพย์สินรัฐบาลประชาชนมณฑลไห่หนานยืนยันว่า บริษัท HAINAN เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนจริงเช่นเดียวกัน ไม่มีใครที่จะกระทำการอุปโลกหรือสวมรอยใดๆ ได้หรอกครับ

มีข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่แสดงว่า ป.ป.ช. ละเลยไม่ตรวจสอบ  เพราะปรากฏพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้ซื้อคือ GSSG ได้มีหนังสือยืนยันจากรัฐวิสาหกิจจีนมาถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นพยานหลักฐานที่แสดงว่า GSSG เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนจริง มีการอ้างพยานบุคคลเพื่อไต่สวนให้เห็นถึงสถานะของทั้งสองบริษัท แต่ ป.ป.ช. กลับตัดพยานหลักฐานดังกล่าวออก โดยไม่นำมาไต่สวน เหมือนกับตั้งธงไว้ล่วงหน้า จะเห็นได้จากการที่แทนที่ป.ป.ช.จะเชิญ GSSG มาให้ไต่สวนให้ปากคำในฐานะพยานแต่กลับแจ้งข้อกล่าวหาทำให้ GSSG กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาไป ถ้าจะให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน ป.ป.ช.ต้องฝ่ายผู้ซื้อมาไต่สวนเอง

กระผมอยากจะถามว่า ความเป็นธรรมที่จะสอบพยานให้กระผม มันไม่มีพื้นที่เหลือเลยเหรอครับ   ความเป็นธรรมมีให้กับฝ่ายผู้กล่าวหากระผม เพื่อจะให้กระผมต้องรับโทษทางอาญาและถูก      ถอดถอนเท่านั้นหรือ  การไต่สวนในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาและต้องต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับอีกหลายหมื่นล้านบาท ที่เคยมีการกล่าวว่าการไต่สวนคดีอาญาต้องทำการไต่สวนให้สิ้นข้อสงสัย คือ มีการสอบพยานให้ครบถ้วนเสร็จสิ้นนั้น ให้โอกาสกับฝ่ายผู้กล่าวหาเท่านั้นหรือครับ  ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอย่างพวกกระผม เพราะเหตุใดจึงไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้น  กระผมยังคงเรียกร้องให้สภาแห่งนี้ช่วยกันตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนคดีให้กระผม  รวมทั้งตั้งคำถามตามที่กระผมได้กล่าวไว้ในที่ประชุมสภาแห่งนี้ในวันโต้แย้งเปิดคดีว่า “ทำไม ป.ป.ช. ไม่สอบพยานฝ่ายผู้ซื้อ”


เมื่อผู้แทนผู้กล่าวหาพูดถึงคุณธรรม จริยธรรมตลอดเวลา บัดนี้ได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า คำอ้างอันสวยหรูงดงามของท่านนั้น เป็นเพียงวาทกรรมถ้อยประดิษฐ์ ที่หยิบออกมาใช้ยามที่ท่านต้องการ จะวาดภาพความเลวร้ายของผู้อื่น ยกภาพตัวเองเป็นวีรบุรุษ ผู้ปราบทุจริต ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง



ท่านเลือกสอบคดีฝ่ายพวกกระผมอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สอบคดีฝ่ายตรงข้ามกับกระผม บางกรณีรอเป็นสิบปี ท่านเลือกที่จะถอดถอนนายมนัส สร้อยพลอย แต่วันนี้ ป.ป.ช. ท่านเลือกที่จะไม่ถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพราะอ้างว่าเกษียณอายุราชการ พวกกระผมเข้าใจได้เป็นอย่างเดียวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำ ความยุติธรรมสองมาตรฐาน



สิ่งที่ท่านผู้แทนผู้กล่าวหาตอกย้ำสังคมตลอดเวลาว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี มีแต่ความชั่วร้าย ทำลายผลประโยชน์ของชาติ และท่านกำลังทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือ การวางกรอบคุณธรรม จริยธรรม ด้วยมาตรฐานที่ท่านอวดอ้างว่ายุติธรรม



หากทบทวนให้ถ่องแท้ พวกผมเรียกสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่นี้ว่า “ยุติธรรมอำพราง” ครับ



ป.ป.ช.เป็นเสมือนต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรม แต่ท่านเลือกที่จะไม่สอบสวนไต่สวนพยานสำคัญ ที่กระผมร้องขอ นี่ก็คือการอำพราง



ท่านเลือกที่จะไต่สวนแต่พยาน ที่ไม่เป็นคุณต่อกระผม และละเว้นที่จะไม่ไต่สวนรัฐวิสาหกิจผู้ซื้อ โดยไม่อธิบายเหตุผลใดๆ นี่ก็คือการอำพราง



ท่านเบี่ยงเบน ชักจูงพยาน เพื่อกล่าวหา ซัดทอดทางการเมือง เพื่อแลกกับการกันเป็นพยาน นี่คือ “ความยุติธรรมอำพราง”



*หมายเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์

ไม่มีความคิดเห็น :