วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย ประชามติ" โดย รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี



*หมายเหตุ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ดำรงตำแหน่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



       หัวใจของการทำประชามติ คือการยืนยันหลักการ “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” (popular sovereignty)

       ดังนั้น ในหลายประเทศจึงบัญญัติไว้ชัดเจนว่า การแก้ไข เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือเขดแดนแห่งรัฐ จะต้องได้รับความยินยอมโดยตรงจากประชาชน กล่าวคือ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง ไม่ผ่านผู้แทน/ตัวแทน
       อานิสงส์สำคัญที่จะได้จากการทำประชามติ คือ การกระจายข้อมูลจากหลายช่องทางสู่ประชาชนอย่างเข้มข้น หากทำประชามติตามหลักการสากลแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนได้เรียนรู้ ตื่นตัวทางการเมือง และตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ตนเองได้ดีที่สุด
       แต่จุดอ่อนที่วิจารณ์กันเป็นสากลก็คือ หากการให้ข้อมูลถูกปิดกั้น ไม่เปิดให้ฝ่ายเห็นค้านและสนับสนุนได้รณรงค์อย่างเต็มที่และเท่าเทียมแล้ว ประชาชนจะตัดสินใจบนความไม่รู้ และไม่ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
       ด้วยเหตุนี้ ช่องทางให้ข้อมูล ความหลากหลายของแหล่งความเห็น และระยะเวลาที่เพียงพอจึงสำคัญยิ่ง

       ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าพ่อในการทำประชามติ ล่าสุดเพิ่งให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะยกเลิกการจ่ายค่าทำแท้งโดยระบบประกันสุขภาพ โอนให้เป็นภาระของแม่แทนหรือไม่ จนถึงจำกัดแรงงานอพยพ และกองทุนทองสำรองของประเทศ กำหนดระยะเวลาในการรณรงค์ไว้ที่ 18 เดือน หรือในสก๊อตแลนด์ที่หลังจากประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะทำประชามติแยกเป็นอิสระ ให้เวลากว่า 18 เดือนเช่นกัน ในการให้ทุกฝ่ายรณรงค์
       และในการทำประชามติ จำเป็นอย่างมากที่ประชาชนจะต้องทราบ “ทางเลือก” เพื่อประกอบการตัดสินใจ ว่าหากเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

       กล่าวให้ชัด หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ หากไม่เห็นชอบ จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน หรือร่างใหม่ โดยใคร ใช้เวลาและงบประมาณเท่าไหร่ เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง
       เป็นที่น่าคิดว่า หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2558 จะถูกตีความว่าเป็นการไม่เห็นชอบรัฐบาล คสช. ด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงคิดว่าเราจะได้ยินข้ออ้างนานาประการที่จะไม่ทำประชามติ



ตัวอย่างการบอกให้ประชาชนทราบว่า โหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ แล้วจะส่งผลอย่างไร จากการทำประชามติในอียิปต์ ปี 2011

ไม่มีความคิดเห็น :