วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เปิดใจ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ธรรมศาสตร์ ถึงวีรกรรมท้าทายเผด็จการกลางงาน'บอลประเพณีฯ


เปิดใจ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังขบวนล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ท่ามกลางการคุมเข้มของทหาร และเสียงชื่มชมจากผู้รักประชาธิปไตย..







       นายวชิรวิทย์ คงคาลัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างผลงาน ขบวนพาเหรดล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวทีวียี่สิบสี่ สถานีประชาชน ถึงวีรกรรม ในการฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ความมั่นคง จนสามารถนำหุ่นล้อการเมืองเข้าไปในสนามได้

       โดยนายวชิรวิทย์ กล่าวถึงความหมายของหุ่นแต่ละตัวว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้คนดูตีความเอง เช่น ในหุ่นชุด “โฆษณาชวนเชื่อง” ที่เป็นภาพเยาวชน กำลังนั่งดูรายการคืนความสุขของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจตีความได้ว่า ท่านผู้นำกำลังกล่อมเกลา



       ส่วนหุ่นล้อการเมืองในชุด “ข้านิยม12ประการ” ที่เป็นภาพคุณครูกำลังสอนค่านิยม12ประการ แต่พอฉีกกระดาษที่กระดานดำออกมา กลับกลายเป็นคำว่า ประชาธิปไตย ที่ถูกขีดฆ่า ซึ่งตรงนี้ อาจสะท้อนความหมายว่า ค่านิยม12ประการ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่?


       ส่วนหุ่นล้อในชุด "ไทยแลนด์ฟาร์ม" ก็อาจสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หรือเรื่องชนชั้นได้



      ขณะที่เหตุการณ์ชุลมุน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เข้ามาตรวจสอบ  ยึดแผ่นป้ายผ้า  หรือมีการปิดกั้นประตู  รวมทั้งตรวจสอบหุ่นในขบวนทุกตัวนั้น ทางกลุ่มอิสระล้อการเมือง มีการประเมินเหตุการณ์ไว้แล้ว


        จึงได้ใช้วัสดุหุ้มตัวหุ่นไว้อีกชั้นเพื่ออำพราง เช่น หุ่นล้อในชื่อชุด “(ปะ)ยึดอำ(โอ)นาจ” ที่ตอนแรกใช้ผ้าดำหุ้ม แล้วหลอกเจ้าหน้าที่ว่ากำลังล้อเลียนกลุ่มไอสิส โดยสาเหตุที่ทำเช่นนี้ ไม่ได้ต้องการตุกติกแต่อย่างใด เนื่องจากมีเจตนาที่จะเอาหุ่นเข้าไปในสนามให้ได้ เพื่อรักษาประเพณีในการล้อการเมือง ที่นักศึกษาสามารถวิจารณ์การเมืองได้


       นอกจากนี้ ยังมีนิสิต นักศึกษาบางกลุ่ม กางป้ายผ้า ที่ระบุข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ในแสตนด์ฝั่งตรงข้าม องคมนตรี ผู้เป็นประธานในพิธี และคณะผู้บริหารทั้งสองมหาวิทยาลัย จนถูกเจ้าหน้าที่ปลดออกในที่สุด


       อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่คงมุ่งที่จะตรวจสอบเฉพาะขบวนล้อการเมือง จนหลงลืมไปว่า บนสแตนด์เชียร์ก็มีการแปรอักษร ซึ่งปีนี้ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแปรอักษรเป็นบทกลอน มีใจความตอนหนึ่งว่า “พี่ขอปรองดอง แต่ฟังหนูมั้ย  ขอตรวจสอบ  จะฉุนทำไม ขอประชาธิปไตย  เมื่อไหร่จะคืน”

       ซึ่งในการแปรอักษรของนักศึกษาฝั่งธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ทำให้หลายคนกล่าวว่า เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาทำด้วยความกล้าหาญ ท่ามกลางการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเมื่อปี 2526
       ซึ่งล่าสุด นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า  แปรอักษรภาพประวัติศาสตร์เมื่องานฟุตบอลประเพณี ต้นปี 2526 มีการลักลอบแปรอักษรภาพปรีดี พนมยงค์ กลางสนามศุภฯ  ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงอาจารย์ปรีดีกลางที่สาธารณะ  เป็นครั้งแรกในรอบสามสิบกว่าปี หลังจากที่ท่านหนีตายจากทหาร ที่กระทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490   ตอนนั้นผมที่รับผิดชอบการแปรอักษร ได้บอกพรรคพวกชุมนุมเชียร์ว่า เราก็อยู่กันปี 4 แล้ว ขอทำอะไรให้อาจารย์ปรีดีก่อนจบการศึกษากันสักครั้งเถิด  เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน  เพราะตอนนั้นไม่มีใครกล้าพูดถึงปรีดีเลย  และเปรมยังเป็นนายกฯ

      เมื่อแปรภาพออกมา มีเสียงปรบมือทั้งสนาม ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ยืนร้องไห้ด้วยความดีใจ อาจารย์ปรีดีมีจดหมายมาขอบคุณที่ยังรำลึกถึงท่านอยู่ และไม่กี่เดือนต่อมาท่านก็เสียชีวิตในปีนั้น"

                                                                                                         ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น :