วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

เมื่อ วิษณุ เครืองาม เลคเชอร์ “นิติธรรมควรใช้กับท่านผู้นำเป็นลำดับแรก”



       เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 5 เมษายน ปีนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ถูกรับเชิญไปเป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์” ท่ามกลางผู้มีเกียรติจากประชาคมธรรมศาสตร์ คนสำคัญในแม่น้ำ 5 สาย อย่างนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัย และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ซึ่งทั้งสอง ล้วนเป็น สนช.คนสำคัญ

       การปาฐกถาในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ และมีนัยสำคัญ เพราะหากจับคำพูดของนายวิษณุ เครืองาม กุนซือ มือกฎหมายของ คสช. ได้ ย่อมรู้ทิศทางการเมืองไทยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

       จากหัวข้อ “หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์” นายวิษณุ เริ่มจากการอธิบายถึงหลักนิติธรรม ว่าหมายถึง กฎแห่งกฎหมาย หรือ การปกครองที่มีกฎหมายเป็นหลัก มีที่มาเพื่อจำกัดอำนาจอันล้นพ้นของชนชั้นผู้ปกครอง เปรียบนิติธรรมเป็นเหมือนเมฆ ที่ให้กำเนิดฝน คือ กฎหมาย

       โดยนายวิษณุ ยกย่องว่านายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์และอดีตนายกพระราชทานผู้นี้ เป็นตัวอย่างของผู้มีหลักนิติธรรม


       ที่สำคัญ ท่านรองฯวิษณุ เปิดเผยถึงหลักนิติธรรม ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 58 หรือ หลักนิติธรรมแบบไทยๆ ซึ่งมาจากการรวมเอาหลักการนิติรัฐ นิติธรรม ของอังกฤษ ยุโรป และของอเมริกา ประกอบด้วย 5 ข้อ มีผลผูกมัดทุกองค์กร อันบัญญัติหลักนิติธรรมนี้ไว้ในมาตรา 3 วรรค 2 คือ

1. ต้องใช้หลักกฎหมายเป็นใหญ่ เหนือหลักอำเภอใจ 
2. ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค 
3. ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบอำนาจ และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน 
4. ต้องยึดหลักนิติกระบวน เช่น การไม่ออกกฎหมายย้อนหลังมาลงโทษทางอาญา การไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อน การไม่บังคับให้บุคคลต้องมาปรักปรำตนเอง 
5. คือ การมีศาลและกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

       จากนั้น นายวิษณุ กล่าวถึงความขัดแย้งของมนุษย์ ว่าสามารถสำแดงออกมาได้ 3 รูปแบบ คือ
1. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ 
2. ความขัดแย้งจากความเหลื่อมล้ำ หรือความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม 
3. ความขัดแย้งจากอุดมการณ์ 

       ซึ่งดูเหมือนว่าความขัดแย้งจากอุดมการณ์ จะเป็นสิ่งที่เยียวยาได้ยาก เพราะมิได้แฝงด้วยผลประโยชน์ และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะคิดเห็นแตกต่างกัน อีกทั้ง เป็นหัวข้อหลักของการปาฐกถาครั้งนี้ ว่าจะใช้หลักนิติธรรมลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างไร

       นายวิษณุ พูดถึงสูตรการลดความขัดแย้งว่า มี 4 สูตรที่ใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต คือ 
1. บางเรื่อง ควรปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องแก้ไข เรื่องบางเรื่องไม่ควรไปขุดคุ้ย เพราะจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว หรือพูดง่ายๆก็คือ ทำเป็นลืมๆบ้าง ส่วนจะใช้เมื่อไหร่ ให้ดูที่กาละ-เทศะ 
2. การปรองดอง หรือ การพบกันครึ่งทาง โดยเน้นการเจรจา 
3. การแก้ไขที่ต้นเหตุความขัดแย้ง 
4. ต้องทำให้รู้ว่าใครผิดใครถูก แล้วจัดการแก้ไขความขัดแย้ง

       ทั้งนี้ นายวิษณุ ย้ำว่า ห้ามลืมการนำหลักนิติธรรม เข้าไปจับกับ 4 สูตรนี้ จึงจะลดความขัดแย้งได้ มิเช่นนั้น จะกลายเป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาใหม่ ฉะนั้น ความขัดแย้งในปัจจุบัน การอภัยโทษ หรือ การนิรโทษกรรม จึงยังเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ

       อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รองนายกฯวิษณุ กล่าวถึงที่มาของหลักนิติธรรมว่า เกิดขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจอันล้นพ้นของชนชั้นปกครองหรือผู้นำ มิให้ทำอะไรตามอำเภอใจ การปาฐกถาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้มีอำนาจตาม มาตรา 44 อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมานั่งฟังด้วย.. 




ทีมข่าว TV24 สถานีประชาชน รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น :