วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลทวงคืนป่า สภาเกษตรกรฯให้ป่าคืน

 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและมีความกังวลต่อแนวทางการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรรายย่อยที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน  และเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยได้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนมีประกาศเขตป่าอนุรักษ์
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าในปี ๒๕๕๘ คณะกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม เสนอให้เกษตรกรไทยร่วมกันปลูกต้นไม้ทดแทน เพื่อสร้างความร่มรื่นคืนสภาพธรรมชาติให้กับประเทศไทย ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม เสนอให้เกษตรกรไทยทั้งประเทศร่วมกันปลูกต้นไม้ จำนวน ๙,๙๙๙,๙๙๙ ต้นบนแผ่นดินไทย  เพื่อสร้างความร่มรื่นคืนสภาพธรรมชาติให้กับประเทศ โดยให้สภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศประสานงานกับกรมป่าไม้ในเรื่องพันธุ์ไม้ แล้วประสานงานกับส่วนราชการในจังหวัด องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร ประชาชน  ปลูกต้นไม้บนพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะ 
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากความเห็นพ้องต้องกันของคนไทย ที่เห็นว่าป่าไม้ถูกตัดทำลายจนเหลือพื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา สร้างป่าขึ้นมาใหม่ โดยจากการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐบาลคือนโยบายในการทวงคืนผืนป่า 6 แสนไร่ในปี 2558 โดยมุ่งไปที่พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกนำไปปลูกยางพารา ซึ่งแน่นอนว่าเกษตรกรถูกมองเป็นจำเลยของสังคมในประเด็นนี้   จากเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ยากจน ยากไร้ จำเป็นต้องมีที่ดินใช้ประกอบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ เมื่อรัฐบาลตัดโค่นต้นยางในพื้นที่ขนาดใหญ่ ย่อมส่งผลให้กระทบต่อสภาพธรรมชาติ การร่วมกันปลูกต้นไม้ ๙,๙๙๙,๙๙๙ ต้นของเกษตรกรจึงเป็นการร่วมมือกับรัฐบาลในการให้ป่าคืน คืนธรรมชาติให้ชุมชน
สำหรับการช่วยเหลือกับเกษตรกรที่ยากจน ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ประสานแจ้งกรณีจังหวัดที่ยังไม่มีการดำเนินการตัดโค่นยางพาราตามแผนการทวงคืนผืนป่า ขอให้ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อชี้แจงความเดือดร้อนของเกษตรกรรายย่อยที่จะได้รับผลกระทบ และให้จัดทำสำเนาคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มอบให้เกษตรกรรายย่อยใช้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีจังหวัดที่มีการดำเนินการทวงคืนผืนป่าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปตัดโค่นยางพาราของเกษตรกรแล้ว ขอให้ดำเนินการประสานงานให้คณะผู้ปฏิบัติงานสภาเกษตรกรระดับตำบล/อำเภอ สำรวจค้นหาเกษตรกรที่ถูกดำเนินการและพร้อมที่จะให้ข้อมูลความเดือดร้อนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล  อย่างน้อย 1 กรณีตัวอย่าง เมื่อได้รับข้อมูลว่ามีเกษตรกรที่ถูกตัดโค่นยางพาราและพร้อมให้ข้อมูลแล้ว ให้มอบให้สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด เข้าไปสัมภาษณ์ข้อมูลจากเกษตรกรคนดังกล่าว    บันทึกข้อมูลการสัมภาษณ์ และถ่ายภาพที่เกี่ยวข้อง จัดทำเป็นเอกสารรายงานต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ  เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น :