วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ระบอบเผด็จการทหารสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลพลเรือน จริงหรือ? ตอบ: ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมมักส่งผลต่อทางลบในการพัฒนา!

ทราบว่าหลายท่านที่นิยมชมชอบรัฐบาลเผด็จการทหาร มักยกเหตุผลว่า รัฐบาลนี้ได้ทำอะไรหลายๆอย่างที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ ก็แน่ล่ะครับ หลายโครงการ เช่น โครงการ 2 ล้านล้าน, โครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนกว่าล้าน, การโอนเงินจำนำข้าวให้ชาวนา, ตัดโค่นต้นไม้เพื่อทวงคืนผืนป่า, การกู้เงินกองทุนประกันสังคม ฯลฯ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ทำไม่ได้เพราะถูกขัดขวาง แต่พอมาเป็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กลุ่มคนที่ขัดขวางก็ไม่ทราบว่าหายไปไหน

ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะกันเอาเองนะครับ ส่วนว่าหากเน้นเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ที่มักเชื่อกันว่าในยุคเผด็จการจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลพลเรือนนั้น เมื่อลองค้นงานวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ เจอข้อมูลดังนี้ครับ

มีข้อถกเถียงว่า ระบอบเผด็จการทหารสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลพลเรือน ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 
1) ทหารมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย มีความรักชาติ มีวินัย และทำงานมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลแบบชนเผ่า หรือระบอบสืบสายโลหิต  
2) ไม่ต้องกังวลกับการแข่งขันเลือกตั้ง จึงสามารถตัดสิตใจประเด็นยากๆ แต่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวโดยไม่ต้องคำนึงถึงคะแนนนิยม
3) ทหารมีเครื่องมือในการบังคับ ให้การตัดสินใจเกิดผลได้จริงจัง รวดเร็ว (Morris Janowitz, 1997)

อย่างไรก็ตามข้อมูลเชิงประจักษ์ ในหลายประเทศไม่สนับสนุนความเชื่อที่ว่ารัฐบาลทหารนำความเจริญทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาประเทศได้มากกว่ารัฐบาลพลเรือน คนส่วนมากโดยเฉพาะในประเทศประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วเชื่อว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมมักส่งผลต่อทางลบในการพัฒนา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ความแตกต่างที่มักถูกอ้างถึงคือ

1. ประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ทำสงครามระหว่างกันเอง ไม่สะสมกองทัพและกำลังพลตามแนวชายแดนในลักษณะที่จะย่อมให้เกิดการวิวาทระหว่างประเทศ ดังนั้น สงครามชายแดนที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของทหารจึงน้อยลงไปด้วย และในประเทศประชาธิปไตยมักไม่เกิดสงครามกลางเมือง

2. ประเทศประชาธิปไตยที่ยากจน มักมีแนวโน้มที่ประชาชนจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่า มีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่า มีอัตราการตายของทารกแรกเกิดต่ำกว่า ได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาดอย่างทั่วถึงกว่า และได้รับการบริการสาธารณสุขที่ดีกว่าประชาชนในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมที่ยากจน ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นเพราะว่าได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือเพราะใช้จ่ายเงินงบประมาณในปริมาณที่สูงกว่า ในเรื่องการศึกษาและสุขภาพประชาชน แต่เป็นเพราะในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ดีกว่า และการจัดการทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงกว่า

3. อมาตยา เซ็น (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานมากมาย มีทฤษฎีว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพประเทศใด ต้องประสบปัญหาอดอยากขาดแคลน (famine) อย่างรุนแรง ทั้งนี้รวมถึงประเทศประชาธิปไตยที่ไม่ได้ร่ำรวยอย่างอินเดีย โดยอินเดียประสบภาวะอดอยากขาดแคลนครั้งใหญ่ที่สุดเป็นครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1943 ส่วนความอดอยากที่เกิดก่อนหน้านี้ คือในศตวรรษที่ 19 ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

4. ปัญหาผู้ลี้ภัยแทบทุกครั้ง เกิดจากประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และสถานการณ์การลี้ภัยที่เกิดขึ้นในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาในประเทศเผด็จการอำนาจนิยมทั้งสิ้น

5. ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา  พบว่าประเทศยากจนในทวีปอาฟริกาที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วกว่าประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยในทวีปเดียวกัน (สิริพรรณ, 2553)

สรุป จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมมักส่งผลต่อทางลบในการพัฒนา!

เชือก โชติช่วย
11 มิ.ย. 2558


เอกสารอ้างอิง 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2553). การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ.เอกสารคำสอนวิชาการเมืองการ
ปกครองเปรียบเทียบ. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่)

Morris Janowitz, Military Institutions and Coercion in the Developing Nations, Chicago: University of 
Chicago Press, 1977.  

ไม่มีความคิดเห็น :