วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ชาวนาในจังหวัดเชียงรายเดือดร้อนหนักหลังถูกกดราคาจากลานรับซื้อข้าวเปลือกและค่ารถเกี่ยวข้าวที่พุ่งสูง ขณะที่ชาวนามหาสารคาม ต่างเข้าคิวยาว เพื่อขายข้าว ที่ตลาดนัดข้าวเปลือก อย่างคึกคัก เนื่องจากให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป






ที่ตลาดนัดข้าวเปลือก สหกรณ์การเกษตรอำเภอเมืองจังหวัดมหาสาคาม นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามการกำกับดูแลบริการจัดการข้าว ระดับจังหวัด ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่จัดโครงการ “ตลาดนัดข้าวเปลือกจังหวัดมหาสารคาม” ภายในสหกรณ์การเกษตรเมืองมหาสารคาม จำกัด  เพื่อติดตามโครงการอย่างใกล้ชิด  หลังจากมีเกษตรกรจำนวนมาก  นำรถขนข้าวเปลือกมารอเข้าคิวชั่งน้ำหนักตลอดทั้งวัน ซึ่งถือเป็นทางเลือกในการขายข้าวของชาวนา นอกจากนี้เกษตรกรจะได้รับเงินสดทันที  โดยจังหวัดมหาสารคามมีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ที่สหกรณ์การเกษตรทั้ง 9 แห่ง เวียนไปทุกอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ในจังหวัดมหาสารคาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2558

นายกำธร  โป๊ะลำพงษ์  สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า สหกรณ์ได้ร่วมกับกรมการค้าภายใน และจังหวัดมหาสารคาม โดยคณะอนุกรรมการติดตามการกำกับดูแลบริการจัดการข้าว ระดับจังหวัด และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์   ได้กำหนดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ป้องกันปัญหาราคาข้าวตกต่ำ  โดยเกษตรกรที่นำข้าวมาขายในโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกจะได้รับความเป็นธรรม สามารถต่อรองราคาได้  มั่นใจเรื่องเครื่องชั่งที่ตรง และสามารถรับเงินสดได้ทันที   ซึ่งรับซื้อข้าวเปลือก ในราคาสูงกว่าจุดรับซื้อทั่วไป ตันละ 100-500 บาท ขณะที่ ราคารับซื้อทั่วไป ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 26-30 เปอร์เซ็นต์ ราคา 8.50-9 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ราคาในตลาดนัดข้าวเปลือกเริ่มต้นที่ 9-10 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ตลาดรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรมีการแข่งขัน  รวมทั้งช่วยพยุงราคารับซื้อข้าว/ จากตลาดนอกโครงการไม่ให้ตั้งราคาต่ำเกินไป  เกษตรกรมีทางเลือก มีอำนาจต่อรองมากขึ้น  ที่สำคัญจะส่งผลดีต่อเกษตรกร  เพราะได้เรียนรู้ระบบการซื้อขายแบบตลาดกลาง ถือเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาสนใจ พัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าวอย่างจริงจัง และให้เป็นไปตามต้องการของตลาด  

สำหรับยอดรวบรวมข้าวเปลือก ของสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ 1- 15 พฤศจิกายน ได้รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรแล้ว จำนวน 8,917 ตัน  มูลค่า 80.86 ล้านบาท และล่าสุด ในตลาดนัดข้าวเปลือก เฉพาะวันที่ 16 พฤศจิกายน  ได้รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรรวม 487 ตัน มูลค่า 4,609,364 บาท


ส่วนเกษตรกรชาวนาในจังหวัดเชียงรายในหลายพื้นที่ กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการขายข้าวนาปี ที่ถูกลานรับซื้อ กดราคาและบางแห่งปฎิเสธการรับซื้อ ขณะเดียวกันราคาค่ารถเกี่ยวข้าวที่ปรับราคาสูงขึ้น หลังข้าวนาปีกำลังสุกพร้อมเกี่ยวเป็นจำนวนมาก และทุกคนต่างเร่งเกี่ยวข้าวเนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยให้ข้าวสุกงอมเกินไปจะทำให้เมล็ดข้าวร่วงเสียหาย  ซึ่งนายยัง มณีโชติ เกษตรกรในตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน กล่าวว่าตอนนี้ตนเองและเกษตรกรชาวนากำลังได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากข้าวที่สุกพร้อมกันมากๆ เกษตรกรจึงต้องเร่งเกี่ยวข้าว ทำให้เจ้าของรถรับจ้างเกี่ยวข้าวได้พากันขึ้นราคาจากเดิมไร่ละ 400-450 บาท ก็ปรับราคาขึ้นเป็นไร่ละ 600 - 700 บาท นอกจากนั้นหลังเก็บเกี่ยวแล้วขณะนำไปขายยังลานรับซื้อข้าวทั้งตามโรงสีและ ลานของสหกรณ์ที่เอกชนมาเปิดรับซื้อข้าว ยังถูกกดราคาโดยพบว่าวันนี้ราคาข้าวหอมมะลิ 105 ขายได้ในราคาตันละ 10,100 บาทเท่านั้น โดยทางผู้รับซื้ออ้างว่าข้าวเขียวและสดเกินไป ในขณะที่ชาวนาก็ต้องเร่งเกี่ยวเพราะหากทิ้งไว้นานเมล็ดข้าวจะร่วงและราคาค่ารถเกี่ยวก็จะปรับขึ้นราคาอีก ตนเองจึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลปัญหาด้วย ทั้งค่ารับจ้างเกี่ยวข้าวและราคารับซื้อข้าวเปลือกและความเที่ยงตรงของตาชั่ง

ไม่มีความคิดเห็น :