วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในการให้ชะลอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.......
          ความเป็นมาของการเสนอให้ชะลอร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากสภาเกษตกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรกรรม ตระหนักดีถึงเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการให้มีกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งที่มีอยู่ในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ ให้เป็นไปโดยเหมาะสมไม่เกิดผลเสียหาย มีความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ มีมาตรฐานสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับสากล แต่อย่างไรก็ดี จากข้อมูลและรายงานการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยได้บ่งชี้ตรงกันว่า หากมีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมอันจะก่อให้เกิดความเสียหาย  ระบบนิเวศน์ ฐานพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยากที่จะกลับสู่สภาพเดิมรวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคผิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
          สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรภาคีเครือข่าย จึงมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะสร้างความเดือดร้อนไม่แต่เฉพาะเกษตรกร แต่จะกระทบถึงคนในชาติ จึงใคร่ขอให้รัฐบาลได้ชะลอการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ก่อนและจัดให้มีคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม  เพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมสมบูรณ์เหมาะสมเป็นผลดี  ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่าที่ควร  จึงยังมีประเด็นที่มีจุดอ่อนช่องโหว่ในทางกฎหมายหลายประการ รวมทั้งเห็นควรเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสริมสร้างการรับรู้ของเกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป การพัฒนาให้มีบุคลากรผู้มีความรอบรู้ทั้งในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
          นายประพัฒน์ ระบุอย่างชัดเจนว่า การเสนอความเห็นต่อการชะลอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.......ต่อนายกรัฐมนตรี เป็นความห่วงกังวลของทั้งภาคเกษตรกร และภาคเศรษฐกิจ ที่ต้องการความพร้อม ความครอบคลุม ความสมบูรณ์ ที่มั่นใจว่าทุกฝ่ายต้องการตรงกัน

ไม่มีความคิดเห็น :